xs
xsm
sm
md
lg

นานาชาติหนุนไทยสู้ บ.ยาสูบ เดินหน้า กม.ขยายภาพคำเตือนซองบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นานาชาติลงชื่อหนุนไทยสู้บริษัทยาสูบ เดินหน้าออก กม.ขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ชี้ไทยเป็นต้นแบบหลายประเทศ หากถูกสกัดจะทำให้อีกหลายประเทศไม่กล้าทำ ด้าน “หมอประดิษฐ” สั่ง กรมควบคุมโรคลุยสู้ในชั้นศาลเต็มที่ เล็งอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

จากกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ไว้เป็นการชั่วคราว แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศกระทรวง

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ศูนย์การประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี ดร.ไมเคิล สปาร์ก ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา (IUHPE) กล่าวภายหลังร่วมลงชื่อสนับสนุน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% ของพื้นที่ซอง ร่วมกับผู้เข้าประชุมจากประเทศต่างๆ 1,000 คน ในงานประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 ว่า ในฐานะประธาน IUHPE ขอสนับสนุน สธ.ไทยให้เดินหน้าเพิ่มขนาดภาพคำเตือน ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมและช่วยลดการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพ โดยหลายประเทศทั่วโลกได้นำแนวทางดังกล่าวไปดำเนินการแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เพิ่มเป็น 87.5% อุรุกวัย 80% และอีกหลายประเทศกำลังขยายภาพคำเตือนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกัน

การสนับสนุนการออกกฎหมายของประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้วย 3 เหตุผล คือ 1.บุหรี่เป็นสินค้าซึ่งแม้จะถูกกฎหมายแต่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุดในโลก 2.เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ และ 3.ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างให้กับนานาชาติในการคุ้มครองประชาชน” ประธาน IUHPE กล่าว

เมื่อถามว่าประเทศไทยควรปฏิบัติในกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายอย่างไร ดร.ไมเคิล กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องยืนหยัดเพื่อผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้สามารถบังคับใช้ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบที่หลายประเทศใช้เป็นแบบอย่างในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนจากควันบุหรี่ หากไทยหยุดการผลักดันกฎหมายก็จะส่งผลต่อประเทศอื่นด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพฯ สมาพันธ์นานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการศึกษา จะนำประเด็นดังกล่าวบรรจุเป็นหนึ่งวาระ ซึ่งภายหลังการประชุมจะส่งจดหมายมติที่ประชุมพร้อมด้วยรายนามผู้ร่วมสนับสนุนผลักดันกฎหมายให้แก่ รมว.สาธารณสุขไทยด้วย

ผลการวิจัยทั่วโลกตลอด 50 ปีที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไม่ใช่สินค้าธรรมดา และทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมีมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง และสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ หรือ FCTC มาตรการ 11 ด้านการควบคุมบรรจุภัณฑ์และฉลาก ที่ลงนามโดย 177 ประเทศทั่วโลก เชื่อว่าการที่ บริษัทบุหรี่พยายามแทรกแซงนโยบายโดยการฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เป็นเพราะบริษัทบุหรี่ไม่ต้องการให้ไทยเป็นต้นแบบแก่ประเทศต่างๆ เพราะเกรงว่ามาตรการที่เข้มแข็งเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อันจะทำให้บริษัทบุหรี่ทำการตลาดได้ยากยิ่งขึ้น” ดร.ไมเคิล กล่าว

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ รมว.สาธารณสุข ทราบแล้ว ซึ่งได้สั่งการให้ต่อสู้เต็มที่และให้เดินหน้าศึกษาข้อมูลเพื่อขออุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยวันนี้ คร.ได้เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมประชุมให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งตนได้ให้แนวทางกับทีมงานแล้วว่าจะมีการชี้แจ้งในเรื่องใดเพิ่มเติมบ้าง โดยในเบื้องต้นได้เอาคำสั่งศาลมาดูเพื่อใช้เป็นแนวทางในการชี้แจงต่อไปอีกด้วย ซึ่งการรวบรวมข้อมูลต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

นพ.นพพร กล่าวอีกว่า สำหรับการสู้คดีในครั้งนี้ สธ.ได้รับชัยชนะตั้งแต่ต้นแล้ว เนื่องจากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และจากการศึกษาข้อโต้แย้งของผู้ประกอบการนั้น สธ.สามารถชี้แจงให้ศาลเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้อยู่ พอหลายประเทศเห็นคำสั่งศาลก็ค่อนข้างช็อก อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้รับความร่วมมือจากนักกฎหมายของออสเตรเลียมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสู้คดีในชั้นศาล เนื่องจากประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดีมาแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น