xs
xsm
sm
md
lg

ราชภัฏ-ราชมงคล เห็นด้วยจัดอันดับมหา’ลัยไทย เชื่อทำให้พัฒนาคุณภาพมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราชภัฏ-ราชมงคล เห็นด้วยจัดอันดับมหา’ลัยไทย แต่ขอให้วางเกณฑ์ให้ชัดและเหมาะสมต่อการประเมินมหา’ลัยแต่ละประเภท วอนฟังความเห็นรอบด้านก่อนเดินหน้า ขณะที่ อธิการ มทร.ธัญบุรี ขอให้รัฐวางมาตรการรองรับช่วยเหลือมหา’ลัย ที่ได้อันดับรั้งท้ายให้มีคุณภาพขึ้น
 รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายที่จะจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อให้มหาวิทยาลัยแข่งขันและพัฒนาคุณภาพใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันบอกสังคมให้ได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านใด และอยู่ในอันดับที่เท่าไรของประเทศนั้น ว่า โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในแง่ที่จะทำให้เด็กที่จะตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยใดๆ ได้มีโอกาสรู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน คุณภาพอาจารย์ผู้สอน หรือจบในสาขาที่เรียนมีโอกาสในการทำงานมากเท่าใด ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะสะท้อนเรื่องเหล่านี้ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากกว่า นอกเหนือจากที่จะทำให้รู้ว่าแต่ละแห่งถูกจัดอันดับที่เท่าไร
ทั้งนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งในระดับโลก ระดับอาเซียน หากไทยจะจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศโดยเฉพาะก็จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ ดัชนี้ชี้วัดที่ชัดเจน ขณะเดียวกันการจัดอันดับของไทยควรสอดคล้องกับทิศทางการจัดอันดับในสากลด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมนึกถึงพันธกิจหลักของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ชาติ การบริหารวิชาการเพื่อสังคม การผลิตบัณฑิต การสร้างงานวิจัยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เหล่านี้ควรจะนำใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ที่จะมีโอกาสติดอันดับได้ยาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเร่งดำเนินการในระยะเริ่มต้นขอฝากให้ รมว.ศึกษาธิการ รับฟังความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้านทั้งผู้ปกครอง นักเรียน มหาวิทยาลัยก่อน
ด้าน รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยและยอมรับได้กับที่จะให้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพ และนโยบายของตนก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนา มร.สส.ให้ติด 1 ใน 15 มหาวิทยาลัยของประเทศ เราส่งเสริมสนับสนุนอาจารย์ทุกคนพัฒนาตนเอง สร้างงานวิจัย เป็นต้น เพียงแต่ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าต้องการจัดอันดับในด้านใด ส่วนที่ว่าจะกังวลหรือมองว่ายุติธรรมหรือไม่ถ้าราชภัฏจะต้องถูกนำมารวมในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งประเทศนั้น ตนเห็นว่าในการประเมินคุณภาพต่างๆ ที่ผ่านมากลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก็ต้องถูกประเมินด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ หรือแม้แต่การจัดสรรงบประมาณก็ได้น้อยกว่าซึ่งถามว่ายุติธรรมหรือไม่ ก็ไม่ยุติธรรมเพียงแต่เราจะไม่เอาปัจจัยเหล่านี้มาเป็นข้ออ้าง ที่ต้องทำคือต้องยอมรับในกติกาและพัฒนาตัวเองให้ได้คุณภาพของอาจารย์ นักศึกษา และมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น
ขณะที่ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า แน่นอนว่าการจัดอันดับเป็นสิ่งที่ดีและส่งผลดีทั้งต่อมหาวิทยาลัยในการเร่งพัฒนาตัวเองและประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจ เพียงแต่มหาวิทยาลัยไทยนั้นมีเป้าหมายในการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตแตกต่างกันแบ่งชัดๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดการศึกษาที่เน้นด้านสังคม หมายถึงกลุ่ม มรภ.และ ม.เอกชน กลุ่มจัดการศึกษาด้านสังคมและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ฯลฯ และกลุ่มจัดการศึกษาเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่ม มทร. กลุ่มมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากจะจัดอันดับจะต้องกำหนดตัวชี้วัดและแยกแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยมีความเป็นมา มีนักศึกษา หรือแม้แต่งานวิชาการ งานวิจัยที่แตกต่างกันหากจะใช้เกณฑ์เดียวกันเพื่อมาประเมินจัดอันดับก็จะเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ มหาวิทยาลัยเอกชน อาจจะขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน หรือที่ลืมไม่ได้ในตอนนี้คือ สถาบันการอาชีวศึกษา ที่เพิ่งเปิดระดับปริญญาตรีจะถูกนำมารวมจัดอันดับหรือไม่
การจัดอันดับเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประเด็นความแตกต่างความไม่พร้อมของแต่ละสถาบันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องคำนึงถึงจึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์ประเมินที่ชัดเจน ขณะเดียวกันในกรณีมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับรั้งท้าย รัฐควรจะต้องมาตรการหรือแนวทางที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้ดีขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากขอให้ช่วยคิดหามาตรการรองรับและอยากขอให้ฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องด้วย”รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น