xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งจัดอันดับมหา’ลัย หากพัฒนาขึ้น จัดสรรงบประมาณเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ เล็งคืนชีพ จัดอันดับมหา’ลัยไทย ชี้กระตุ้นมหา’ลัยตื่นตัวพัฒนาคุณภาพหากทำได้ดีอาจมีผลต่อการจัดสรรงบในอนาคต เตรียมตั้งคณะทำงานมาดูโดยเฉพาะย้ำต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มจัดอันดับ พร้อมฝาก กกอ.ช่วยดูการปล่อยกู้ กรอ.ที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งกองทุน
จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ชุดใหม่ ที่มีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ด้านอุดมศึกษาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถสื่อสารกับคนในอุดมศึกษาได้ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานของอุดมศึกษา เนื่องจากอุดมศึกษาไม่สามารถไปสั่งการหรือมีมาตรการอะไรมาบังคับได้ แต่ต้องใช้เหตุและผล โดยตนยังได้เสนอให้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยตื่นตัวจนเกิดการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพขึ้นมาให้ใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันจะเป็นการบอกสังคมให้ได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเน้นการเรียนการสอนทางด้านใด และอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ของประเทศ ซึ่งทาง กกอ.ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่าการจัดอันดับนั้นจะต้องมีการแบ่งมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน อาทิ มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะต้องอิงมาตรฐานสากลด้วย

เรื่องการจัดอันดับนั้นก่อนจะทำ ก็ต้องทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าที่ทำเพราะต้องการให้มหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนาตนเอง และถ้าพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะดีต่อการได้รับการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เพิ่มด้วย ซึ่งผมได้ฝากให้เร่งผลักดันจนเกิดการจัดอันดับโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็จะตั้งคณะทำงานเพื่อมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ได้ฝากให้ทาง กกอ.ช่วยคิดและไปดูแนวทางการดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) อีกครั้งเนื่องจากการดำเนินของกองทุนฯ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมไม่เกิดประโยชน์กับเด็กอย่างเต็มที่

ด้าน ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า วัตถุประสงค์เดิมของ กรอ.จะต้องสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมแก่ทุกคน โดยกำหนดว่าจะปล่อยกู้ในสาขาที่ขาดแคลนและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ และจะต้องมีการศึกษาถึงต้นทุนในการผลิตบัณฑิตแต่ละสาขาที่แท้จริง และเมื่อเรียนจบผู้กู้จะต้องชำระเงินคืนเมื่อมีรายได้เพียงพอ และไม่เป็นภาระกับการครองชีพ ขณะเดียวกันการชำระคืนจะเชื่อมโยงผ่านระบบภาษี แต่ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการเน้นปล่อยกู้ในสาขาที่ขาดแคลนจริง แต่ก็ไม่ได้มีการศึกษาว่าแต่ละปีประเทศมีความต้องการบัณฑิตในแต่ละสาขาจำนวนเท่าไหร่ จนทำให้ผลิตบัณฑิตเกินความต้องการในบางสาขา


กำลังโหลดความคิดเห็น