ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสติดตามข่าวเรื่องการอ่านของคนไทยแล้วก็ต้องปวดหัวใจทุกที ไม่ว่าจะอ้างอิงผลสำรวจจากในประเทศ หรือต่างประเทศ ต่างก็ตรงกันคือ อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยเข้าขั้นอาการน่าเป็นห่วง เป็นตัวเลขที่ต่ำเตี้ยติดดิน และยิ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้วก็ยิ่งเศร้าใจหนักเข้าไปอีก จึงกลายเป็นที่มาของตัวเลขการตั้งเป้าที่กรุงเทพมหานคร ผู้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานกรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก ประกาศจะให้เด็กและเยาวชนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 5 เล่มต่อปี ให้กลายเป็น 10-15 เล่มต่อปี
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามอ่าน 60 เล่มต่อปี, สิงคโปร์ อ่าน 50-60 เล่มต่อปี และมาเลเซียอ่าน 40 เล่มต่อปี แล้วจะไม่ให้ปวดหัวใจได้อย่างไรเล่า !!
ส่วนเป้าหมายจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ สุดที่จะคาดเดา เพราะยังมองไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พลันให้นึกถึง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เคยกล่าวในโครงการลับสมอง ประลองปัญญาสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานครั้งที่ 7 ว่า
“ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของประเทศ คือ คน และการอ่านถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างลักษณะนิสัยของประชาชนและคุณภาพของประชากร ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศในอนาคต ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังฟังนิทาน ครอบครัวควรที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านโดยใช้นิทานเป็นสื่อ เพราะการอ่านและการเล่านิทานจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไปคิดต่อ เกิดแรงบันดาลใจในการทำความดีความงามและความสุข รวมทั้งการเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมและเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ปัจจุบันการใช้สื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิดีโอ ทำให้จินตนาการถูกจำกัดลง เพราะการมีทั้งภาพทั้งเสียงอยู่แล้ว แต่การอ่านจะช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และความอยากรู้อยากเห็นได้ดีกว่า ชวนให้ติดตามเรื่องราวได้มากกว่า”
นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าการอ่านเป็นประตูนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่มีใครเถียง หรือไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นก็คือ การนำไปสู่ภาคปฏิบัติต่างหากที่ยังไม่ได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน
ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกเล็กก็คงไม่สามารถรอคอยความหวังใดๆ ที่จะให้ลูกรักการอ่าน ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ลูกเข้าไปสู่โลกการอ่านด้วยสองมือของพ่อแม่ เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็ก เริ่มต้นด้วยการทำให้เกิด “อ่านเล่น เล่าสนุก ปลุกสมอง”
อ่านเล่น
พ่อแม่ต้องทำให้การอ่านของลูกเป็นเรื่องเล่น เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ให้เรื่องของการอ่านเข้ามาสู่ตัวเด็ก เป็นเหมือนการเล่น พ่อแม่ก็สามารถเอาเรื่องอ่านมาเล่นได้แบบสบายๆ
คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า “พลังของการอ่านจะต้องเกิดขึ้นจากในครอบครัว ถ้าคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็กๆ ก่อนขวบปีแรก เด็กจะคุ้นชินกับนิทาน แล้วก็เสียงของคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ลีลาของเรื่องนิทานเหล่านั้น เมื่อเขาโตขึ้น อ่านหนังสือเองได้ เขาก็จะสามารถอ่านหนังสือเอง มีนิสัยรักการอ่าน และก็จะนำไปสู่การเล่านิทานได้”
เล่าสนุก
ลีลาการเล่าต้องสนุกด้วย พ่อแม่ควรจะเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยความสนุกสนาน เล่าด้วยความสุข เล่าไปเล่นไป จนถึงวันที่เขาสามารถเล่านิทานเองได้ เขาจะได้เล่าให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ฟังอย่างสนุกสนานด้วย
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า “การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ นั้น ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นประจำจะช่วยสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดในครอบครัว รวมถึงช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้สำหรับเด็ก ในวันนี้เราอ่านหนังสือให้ลูกของเราฟัง พรุ่งนี้เขาก็จะอ่านหนังสือให้ลูกเขาฟังเช่นกัน สังคมไทยควรจะต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ” ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต”
ช่วยปลุกสมองลูก ?
การอ่านเล่น การเล่าสนุก มันคือการช่วยปลุกสมองลูกด้วย ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีอย่างเหมาะสม เพราะการอ่านและการเล่า มีมิติในการ
เรียนรู้ได้หลากหลายเริ่มจากน้ำเสียงที่ลูกได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้ลูกสนใจฟัง ขณะเดียวกันสมองของลูกจะสร้างภาพตามเรื่องที่พ่อแม่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของลูกทำงานได้ดี ขณะเดียวกันสมองของลูกไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็นเท่านั้น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การอ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางภาษาที่ดีให้กับลูก
นอกจากนี้การฟังนิทานทุกครั้ง สมองของลูกจะสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองขึ้นมา และขณะที่ฟังนิทาน เรื่องเดิมบ่อยๆ จะเป็นการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทให้เพิ่มและทำงานมากขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นจะช่วยให้ลูกเข้าใจ คิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเข้าใจได้รวดเร็ว
ที่สำคัญช่วงเวลาที่ลูกจดจ่อ ตั้งใจฟังพ่อแม่อ่านหรือเล่านิทาน ลูกน้อยจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับลูก นี่ยังไม่นับเรื่องสัมพันธภาพ ความรัก ความผูกพันในขณะที่เล่านิทาน จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพ่อแม่ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะเห็นความสำคัญและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะผลของการปลูกฝังเรื่องการอ่าน ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที ต้องใช้เวลา และเมื่อถึงเวลาหนึ่งภายหลังจากที่ลูกได้รับพื้นฐานที่ดีมาจากสองมือของพ่อแม่มาโดยตลอด แล้วคุณจะพบเห็นถึงความมหัศจรรย์ของหนังสืออย่างคาดไม่ถึง
ไม่เชื่อต้องลองดูค่ะ !!
………………………………………………………………
“อ่านเล่น เล่าสนุก ปลุกสมอง” เป็นคอนเซ็ปต์ของ “โครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 8” ในปีนี้ ซึ่งเป็นการประกวดเล่านิทานประเภทเดี่ยว แบ่งเป็น 2 ระดับอายุ คือ ระดับอายุ 4-6 ปี และ ระดับอายุ 6-9 ปี ที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค), มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และนิตยสาร Mother&Care โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความรักความผูกพันภายในครอบครัวจากการเล่านิทานอ่านหนังสือร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดเวทีให้เด็กได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเล่านิทานอย่างเป็นธรรมชาติ สดใส สมวัย อันเป็นการต่อยอดจากการที่พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังที่บ้าน เด็กๆ และคุณครูได้ร่วมกันเล่านิทานอ่านหนังสือที่โรงเรียน แล้วพัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างสังคมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย