xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับร่าง พ.ร.บ.พนักงานมหา’ลัย แจง ก.พ.อ.จะพิจารณากรณีไล่ออก-ปลดเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตีกลับร่าง พ.ร.บ.พนักงานมหา’ลัย ก.พ.อ.ให้ถามผู้มีส่วนได้เสียก่อน ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิหวั่นเกิดปัญหาล้วงลูกสภามหา’ลัย แนะแก้ไขให้การยื่นอุทธรณ์ ก.พ.อ.พิจารณาเฉพาะปลดออก/ไล่ออกเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ให้เป็นอำนาจสภามหา’ลัยตามเดิม ด้าน ประธานเครือข่ายพนักงานฯ เผยภาพรวมพอใจแต่ยังห่วงวิธีการเลื่อนสู่ตำแหน่งวิชาการ
รศ.นพ.กำจร  ตติยกวี
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา กลับไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน โดยเฉพาะสภามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ถือเป็นผู้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยตรง จากนั้นค่อยนำกลับมาให้ ก.พ.อ.พิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่ายังมีข้อถกเถียงในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน พนักงานมหาวิทยาลัยก็มีหลายประเภท ทั้งพนักงานที่จ้างโดยงบประมาณแผ่นดิน พนักงานที่จ้างด้วยเงินรายได้มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็กำหนดค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ไว้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องถามความเห็นให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีข้อกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาไว้ด้วย ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ และให้การตัดสินสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย แต่ว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุให้คำตัดสินอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่างๆ มาสิ้นสุดที่ ก.พ.อ.ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเห็นว่า อาจจะไปก้าวล่วงอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่าเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ก.พ.อ.จะเป็นกรณีไล่ออก หรือปลดออกเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นๆ ให้เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยตามเดิม แต่ทั้งหมดยังไม่ถือเป็นข้อสรุป ต้องรอฟังผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียก่อน” รศ.นพ.กำจร กล่าว

ด้าน นายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของพนักงานมหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างครอบคลุม แต่มีบางข้อที่ยังต้องสอบถามความคิดเห็นให้รอบด้านก่อน โดยข้อที่พนักงานส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เห็นด้วย อาทิ การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ที่กำหนดว่า อาจารย์ในระดับปริญญาเอกจะต้องได้รับตำแหน่งทางวิชาการภายใน 5 ปี ซึ่งความเห็นของพนักงานส่วนใหญ่จะมองว่าตึงเกินไป โดยตนได้เสนอทางออกว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ไม่ต้องกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมาย แต่ให้ไปกำหนดไว้ในข้อบังคับแต่ละมหาวิทยาลัย โดยให้มีความยืดหยุ่นตามการบริหารจัดการของแต่ละแห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น