สพฐ.ติดตามผลหลังคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนดี ประพฤติดีได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 300 คน มาเรียนในกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนประจำจังหวัด ในโครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ (ครอบครัวอุปถัมภ์) ปีการศึกษา 2556 พบนักเรียนปรับตัว และดำเนินชีวิตประจำวันให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี คาดสามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้
วันนี้ (1 ส.ค.) นายอนุศักดิ์ อายุวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.สพก จชต.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สพฐ.ได้เปิดโอกาสให้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบและการใช้ความรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ส่งผลให้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ เข้ามาศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ผลปรากฏว่านักเรียนเหล่านั้นสามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ทุกคน และในปีการศึกษา 2551 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สพฐ.จึงร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัด “โครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ (ครอบครัวอุปถัมภ์)” ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, 5 และ 6 มาเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนดังประจำจังหวัด ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดที่พักให้กับนักเรียนในโรงเรียน ในลักษณะของนักเรียนประจำ
สำหรับในปีการศึกษา 2556 มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 300 คน มาเรียนในกรุงเทพมหานครจำนวน 16 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนสามแสนวิทยาลัย, โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ, โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี, อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, โรงเรียนนนทรีวิทยา, โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์, โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์, โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4.โรงเรียนบางกะปิ, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า, โรงเรียนพรตพิทยพยัต, โรงเรียนสารวิทยา และโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน และโรงเรียนในเขตปริมณฑล และในส่วนภูมิภาคอีกจำนวน 45 โรงเรียน และเมื่อส่งเด็กนักเรียนเข้าสู่โรงเรียนอุปถัมภ์แล้ว จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยมติดตามความเป็นอยู่ของเด็กทุกโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ว่าสามารถปรับตัวเข้ากับ
สภาพแวดล้อมได้หรือไม่ สามารถปรับตัวในการเรียนที่เข้มกว่าที่โรงเรียนเดิมได้หรือไม่ นักเรียนสารมารถปฏิบัติศาสนกิจตามที่ตนเองนับถือได้หรือไม่ เช่น นายเจษฎา ราษฏรภักดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน จังหวัดยะลา กล่าวว่า ก่อนจะมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รู้สึกกังวลว่าจะปรับตัวในการเรียนได้ไม่ทันเพื่อน แต่พอได้มาเรียนได้รับการดูแลอย่างดีจากอาจารย์ รวมทั้งเพื่อนๆ ร่วมชั้นที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ช่วยกันติวเข้ม ให้กำลังใจ ทำให้ตน และนายวาริช ทอดทิ้ง ที่มาจากโรงเรียนสันติศาสตร์ศึกษา จังหวัดสตูล เพื่อนในโครงการด้วยกัน สามารถปรับตัวได้ และมีความสุขในการเรียน ถึงแม้จะต้องเรียนหนักและต้องเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม และนายวาริชนับถือศาสนาอิสลามแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่สวนกุหลาบทซึ่งส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ สามารถปฎิบัติศาสนากิจได้อย่างครบถ้วน
ด้านนาย อำนวย จันทร์หอม รองผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบ ผู้ดูแลนักเรียนในโครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง เพราะนักเรียนจะได้รับการเติมเต็มทางด้านวิชาการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้รับการแนะแนวเพิ่มเติม ทำให้ประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน
“ตลอดระยะเวลา 1 ปี นักเรียนจะได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะทางสังคม ส่งเสริมจิตสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสามัคคีในหมู่คณะ และการติวเข้มนักเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัย จากการติดตามตรวจเยี่ยมพบว่านักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สามารถปรับตัว และดำเนินชีวิตประจำวันให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต และหลังจากนี้ สพฐ.ก็จะนำผู้ปกครองจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเยี่ยมนักเรียนในเทอมต่อไปอีกด้วย” ผอ.สพก จชต.กล่าว