xs
xsm
sm
md
lg

“หมอจรุง” ยันวัคซีนเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพหลังหมดอายุ หลังทหารปูดรัฐบริจาควัคซีนใกล้หมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารใต้ร้องหน่วยงานรัฐบริจาควัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน ใกล้หมดอายุ ด้าน ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ยันวัคซีนจะคงประสิทธิภาพถึงวันหมดอายุ จึงค่อยเสื่อมลงไป พบ สปสช.-อภ.ต้นทางจัดซื้อ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
จากกรณีศูนย์แพทย์ทหารบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร้องเรียนจากหน่วยงานทหารบก ว่า จะมีการบริจาควัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ หรือวัคซีนป้องกันโรคหัด (measles) โรคคางทูม (mumps) และโรคหัดเยอรมัน (rubella) จำนวน 1 แสนโดส ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งซึ่งใกล้หมดอายุแล้ว แต่ทหารไม่ได้รับมา โดยกังวลในเรื่องการฉีดให้กับทหารว่าจะไม่ทันเวลา และคิดว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในเด็กช่วงระหว่างอายุ 9 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเข้าชั้นประถม โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แนะนำให้รัฐจัดหาวัคซีนรวมดังกล่าวเพื่อฉีดให้กับเด็กมาเป็นเวลานานแล้ว แต่วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนที่ผลิตได้ยาก จึงมักมีปัญหาในการจัดหา หากปีไหนที่บริษัทวัคซีนผลิตได้น้อยก็จะเกิดความขาดแคลนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เพราะวัคซีนจะถูกกระจายไปยังกลุ่มประเทศร่ำรวยก่อน เนื่องจากสามารถขายได้ในราคาสูง ส่วนกลุ่มประเทศรายได้น้อยได้รับสิทธิการซื้อในราคาต่ำกว่า สัดส่วนที่จะให้แบ่งให้จึงมีต่ำกว่า ดังนั้น ปีใดที่วัคซีนขาดแคลน ก็จำเป็นต้องหาประเภทวัคซีนเดี่ยวมาทดแทน

ปัจจุบันพบว่าจากการใช้วัคซีนพื้นฐานโรคหัดอย่างทั่วถึง ทำให้เชื้อในธรรมชาติมีลดลง ดังนั้น การกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงลดลงตามไปด้วย จึงพบการระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีการอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัย ค่ายทหาร หากฉีดในค่ายทหารได้ก็ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการระบาดของโรค ทั้งนี้ ประเด็นวัคซีนใกล้หมดอายุต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยา วัคซีน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคำนวณช่วงเวลาที่แน่นอน ดังนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนจะยังคงมีอยู่จนวันสุดท้ายที่กำหนดเป็นวันหมดอายุ จากนั้นจะค่อยๆ เสื่อมลง ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารที่ความสดใหม่จะค่อยๆลดลงหลังการปรุงเสร็จ” นพ.จรุง กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนแต่เดิมเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะประสานกับกรมควบคุมโรคในการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย แต่เมื่อปี 2554 ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทให้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดซื้อและกระจายแทน ซึ่งวัคซีนที่กระจายให้กับค่ายทหารนั้น เชื่อว่าเป็นวัคซีนที่อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านกระบวนการจัดซื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น