xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกไร้พุง จ๋อย! ผลงานไม่เข้าเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลินิกไร้พุง สธ.ผลงานไม่เข้าเป้า กรมอนามัยเล็งขยายคลินิกให้ครอบคลุมมากขึ้นทุกระดับ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ในเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่ดื่มเหล้า และไม่สูบบุหรี่

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแบบบูรณาการ” ว่า กรมอนามัยมีนโยบายส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 3อ.2ส. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่ดื่มสุรา และไม่สูบบุหรี่ โดยกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ร่วมกับ สำนักโภชนาการได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคลินิกไร้พุง (DPAC : Diet & Physical Activity Clinic) เพื่อพัฒนาและขยายผลการดำเนินงานคลินิกไร้พุง พัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยกระบวนการ 3 อ.รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพราะจากรายงานสถิติสุขภาพทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก ปี 2555 พบว่า 1 ใน 10 ของประชาชนวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และ 1 ใน 3 มีภาวะความดันโลหิตสูง

“ที่สำคัญ ร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลกเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องมาจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อวิถีชีวิต ก่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น กินหวาน มัน เค็มมากเกินไป มีการเคลื่อนไหวทางกายน้อย และขาดการออกกำลังกาย มีการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงภาวะเครียดจนเกิดภาวะอ้วนลงพุงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดตั้งคลินิกไร้พุง สู่เป้าหมายสถานบริการทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ดำเนินงานได้ร้อยละ 78 จากเป้าหมายร้อยละ 80 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดำเนินงานได้ร้อยละ 41 จากเป้าหมาย ร้อยละ 50 พร้อมเตรียมขยายเพิ่มสถานบริการสาธารสุขทุกระดับ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมการขยายผลการจัดตั้งคลินิกไร้พุง (DPAC) และพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในคลินิกไร้พุง (DPAC) โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการประชุมไปผลักดันกระบวนการทำงาน จนกลายเป็นนวัตกรรมขององค์กรในการดำเนินงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อป้องกันและบำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น