xs
xsm
sm
md
lg

7 สัญญาณอันตรายโรคมะเร็ง แนะวิธีเลี่ยง “ห้ามสูบบุหรี่-กินเหล้า-มั่วเซ็กซ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! คนไทยป่วยมะเร็งรายใหม่แสนคนต่อปี ตายปีละ 60,000 ราย สธ.แนะสูตรห่างไกลมะเร็ง 5 ทำ 5 ไม่ เน้นออกกำลังกาย กินผักผลไม้ ตรวจร่างกายประจำ ห้ามสูบบุหรี่ กินเหล้า มั่วเซ็กซ์ ด้าน ผอ.สถาบันมะเร็งฯ ชี้ 7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ยาวนานกว่า 10 ปี ตกปีละประมาณ 60,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างหนึ่งในนั้น คือ อายุที่เพิ่มขึ้น โดยมะเร็งเป็นโรคที่มีระยะเวลาการก่อโรคที่ยาวนาน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการผิดปกติ ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว สิ่งที่ สธ.จะเน้นคือการให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยง การตรวจคัดกรอง และเพิ่มการตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอายุ ซึ่งผู้ที่มีไม่เคยป่วย หรือมีสุขภาพแข็งแรงก็มีโอกาสเป็นได้ การตรวจสุขภาพจะทำให้รู้สถานะสุขภาพของตนเอง มีการเฝ้าระวังความผิดปกติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง หรือได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่พบว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ

หากดำเนินการตามวิธีนี้ เชื่อว่าจะลดความรุนแรงปัญหาได้ เนื่องจากผลการวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าโรคมะเร็งร้อยละ 60 สามารถป้องกันได้ เช่น กลุ่มวัยรุ่นจะเน้นให้ความรู้สุขภาพทางเพศ ลดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี วัยแรงงานหญิงเน้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรืองดบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สธ.ได้จัดทำคำแนะนำประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง โดยใช้สูตรปฏิบัติตัว “5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง” โดย 5 ทำ ประกอบด้วย 1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป 2.ทำจิตใจให้แจ่มใส 3.กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อ 4.รับประทานอาหารหลากหลาย และ 5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ แม้จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วย ส่วน 5 ไม่ ประกอบด้วย 1.ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ 2.ไม่มั่วเซ็กซ์ 3.ไม่ดื่มสุรา 4.ไม่ตากแดดจ้า และ 5.ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ

ด้าน นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทยปี 2552 มีผู้ป่วยใหม่ 102,791 คน ชายหญิงพอๆ กัน มะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ 13,281 คน ปอด 8,403 คน ลำไส้และทวารหนัก 4,790 คน ต่อมลูกหมาก 2,400 คน และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1,994 คน ส่วนในผู้หญิง ที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งเต้านม 10,193 คน ปากมดลูก 6,452 คน ตับ 6,143 คน ปอด 4,322 คน ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4,144 คน ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง จากรายงานข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.ปี 2554 พบ 61,082 คน โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเพศชาย เช่น มะเร็งตับ 10,189 คน มะเร็งปอด 6,769 คน และมะเร็งลำไส้ 1,501 คน เป็นต้น ส่วนในผู้หญิง เช่น มะเร็งตับ 4,125 คน มะเร็งปอด 3,434 คน และมะเร็งเต้านม 2,724 คน เป็นต้น

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งที่พบบ่อย สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองมี 7 ประการ ได้แก่ 1.ระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นก้อนแข็ง ท้องผูกนานหลายวัน มีกลิ่นผายลมเหม็นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งเน่าเสียค้างในลำไส้ใหญ่ 2.เป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย 3.ร่างกายมีก้อนมีตุ่มขึ้น 4.กินกลืนอาหารลำบาก 5.มีเลือดออกที่ทวารหนักหรือช่องคลอด 6.ไฝ หูด มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 7.ไอเรื้อรัง เสียงแหบ หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็ง เพราะการค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกมีประโยชน์มาก หากเป็นในระยะเริ่มต้นการรักษาจะได้ผลดี โอกาสหายขาดสูง เพราะโรคนี้ใช้เวลาก่อโรคนานหลายปี การรักษาเร็ว จึงเป็นการป้องกันมิให้เข้าสู่ระยะมะเร็งลุกลาม หรือระยะที่ 4 ซึ่งโอกาสหายมีน้อยมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น