แพทย์เตือนเจ้าของพาสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ชี้หากฉีดทุกปี ปีละ 80% ช่วยสังคมไทยปลอดโรคได้ หลังพบสถิติ 99% ตายจากโรคนี้ เพราะสัตว์เลี้ยงมีเจ้าของ ส่วนใหญ่เป็นลูกสุนัข แนะผู้ปกครองเฝ้าระวังกลุ่มเด็กเล็ก หากถูกกัด ข่วน ให้ล้างแผลให้สะอาด แล้วรีบพบแพทย์ฉีดวัคซีนทันที
สพญ.อภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมโรคในสัตว์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งที่มี พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 มาตรา 5 ที่ระบุชัดว่าเจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ แต่คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะละเลย และขาดระเบียบ เวลาสุนัข หรือแมวเกิดโรคก็มักเอาไปปล่อย อย่างไรก็ตาม วิธีการทำให้สังคมไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ทุกคนร่วมมือกันพาสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ปีละประมาณ 80% เชื่อว่าจะสามารถทำให้สังคมไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจากเชื้อไม่มีที่อยู่
“ในเมื่อคนไทยยังไม่สามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าออกจากสังคมได้ ผู้ที่ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะกัดหรือข่วนก็ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด โดยการล้างแผลที่ถูกวิธี ต้องล้างตั้งแต่โคนแผลลงมา และหลังจากล้างแผลเสร็จควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทันที หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันที เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษา” สพญ.อภิรมย์ กล่าว
สพญ.อภิรมย์ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี 2 ราย และจังหวัดศรีสะเกษ 1 ราย และจากสถิติที่ผ่านมายังพบอีกว่า สาเหตุของการเสียชีวิต 99% มาจากสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ และส่วนใหญ่ยังเป็นลูกสุนัขอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ดังนั้นผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นกับสุนัขตามลำพัง
ด้าน นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1.แบบที่นำเข้าแบบสำเร็จ และ 2.แบบที่นำมาแบ่งบรรจุ ซึ่งปกติจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบางส่วนจะเป็นการจัดซื้อของโรงพยาบาลเอง อย่างไรก็ตาม ตนขอเตือนประชาชนที่ถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะกัดหรือข่วนว่า แม้สัตว์จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ที่ถูกกัดหรือข่วนก็ควรรีบล้างแผลและไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนในสัตว์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องการแพร่ระบาดและเป็นการตัดวงจรการระบาดของโรคในสัตว์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงและมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ควรไปรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งนี้ หากประชาชนพบ สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้ส่งสัตว์กับกรมปศุสัตว์เพื่อทำการตรวจ หากพบเชื้อพิษสุนัขบ้า ปศุสัตว์จะได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่ เพื่อเป็นการตัดวงจรแพร่ระบาด
สพญ.อภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมโรคในสัตว์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งที่มี พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 มาตรา 5 ที่ระบุชัดว่าเจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ แต่คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะละเลย และขาดระเบียบ เวลาสุนัข หรือแมวเกิดโรคก็มักเอาไปปล่อย อย่างไรก็ตาม วิธีการทำให้สังคมไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ทุกคนร่วมมือกันพาสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ปีละประมาณ 80% เชื่อว่าจะสามารถทำให้สังคมไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจากเชื้อไม่มีที่อยู่
“ในเมื่อคนไทยยังไม่สามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าออกจากสังคมได้ ผู้ที่ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะกัดหรือข่วนก็ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด โดยการล้างแผลที่ถูกวิธี ต้องล้างตั้งแต่โคนแผลลงมา และหลังจากล้างแผลเสร็จควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทันที หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันที เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษา” สพญ.อภิรมย์ กล่าว
สพญ.อภิรมย์ กล่าวอีกว่า ในปี 2556 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี 2 ราย และจังหวัดศรีสะเกษ 1 ราย และจากสถิติที่ผ่านมายังพบอีกว่า สาเหตุของการเสียชีวิต 99% มาจากสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ และส่วนใหญ่ยังเป็นลูกสุนัขอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ดังนั้นผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นกับสุนัขตามลำพัง
ด้าน นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1.แบบที่นำเข้าแบบสำเร็จ และ 2.แบบที่นำมาแบ่งบรรจุ ซึ่งปกติจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบางส่วนจะเป็นการจัดซื้อของโรงพยาบาลเอง อย่างไรก็ตาม ตนขอเตือนประชาชนที่ถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะกัดหรือข่วนว่า แม้สัตว์จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ที่ถูกกัดหรือข่วนก็ควรรีบล้างแผลและไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการฉีดวัคซีนในสัตว์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องการแพร่ระบาดและเป็นการตัดวงจรการระบาดของโรคในสัตว์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงและมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ควรไปรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งนี้ หากประชาชนพบ สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้ส่งสัตว์กับกรมปศุสัตว์เพื่อทำการตรวจ หากพบเชื้อพิษสุนัขบ้า ปศุสัตว์จะได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่ เพื่อเป็นการตัดวงจรแพร่ระบาด