กรมศิลป์อนุรักษ์บานประตูไม้แกะสลักวัดสุทัศน์ฯ อายุ 191 ปี สมัยต้นรัตนโกสินทร์ คาดใช้เวลาซ่อมแซม 2 ปี
วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องมุขเด็จด้านตะวันตก หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนถวายเครื่องสังเวยบูชาพระฤกษ์บวงสรวงก่อนการอนุรักษ์ และบูรณะบานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทอง พระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ชำรุดเสียหายจากการถูกเพลิงไหม้ โดย นายสหวัฒน์ กล่าวว่า กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุบงบประมาณกว่า 2.5 ล้านเยน หรือกว่า 7 แสนบาท จากมูลนิธิซูมิโตโม ฟัลดิชั่น ของญี่ปุ่น มาดำเนินการอนุรักษ์บานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ของวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งสร้างในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีอายุถึง 191 ปี โดยลักษณะบานประตูเป็นไม้แกะสลัก ขนาดกว้าง 260 ซม.สูง 564 ซม.แกะสลักจากไม้แผ่นเดียวลึกลงไปเป็นลวดลายสลับซับซ้อน ทำให้เกิดลายนูนเด่นลอยขึ้นจากพื้นเป็นเทคนิคการแกะสลักที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา ถือเป็นงานชิ้นเอกของสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เชื่อกันว่าการแกะสลักไม้บนบานประตูคู่นี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งประตูบานนี้มีคุณค่าจึงต้องมีการอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ดร.ศิริชัย หวังเจริญตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า การอนุรักษ์บานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทองบานนี้ จะใช้แนวทางการอนุรักษ์ตามหลักสากล โดยด้านที่ถูกไฟไหม้ ต้องนำมาทำความสะอาดก่อน รวมทั้งเสริมความแข็งแรงประกอบไปด้วย หลังจากนั้น จะต่อเติมบางส่วนที่ขาดเข้าด้วยกัน ส่วนอีกด้านที่มีความสมบูรณ์ ก็ต้องทำความสะอาดด้วย เพราะในสมัยก่อน บานประตูไม้นี้ได้ลงรักปิดทอง โดยใช้ทองคำบริสุทธิ์ 100% หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วจะทำให้สีทองปรากฏเปล่งปลั่งเด่นชัดขึ้น แล้วค่อยนำบานประตูทั้งสองข้างมาศึกษาเปรียบเทียบกัน อย่างไรก็ตาม หลายคนถามว่า เหตุใดไม่สร้างประตูบานใหม่ ตนขอชี้แจงว่าตามหลักสากลของการอนุรักษ์ทั่วโลก ถ้าจะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ จะต้องมีการลอกแบบ ของเดิม แต่ไม่มีการเติมในอันเก่า
สำหรับการอนุรักษ์บานประตูไม้แกะสลัก ดร.ศิริชัย เล่าว่า การทำขึ้นใหม่ หรือซ่อมแซมเพิ่มเติมส่วนที่ไฟไหม้ให้มีความสมบูรณ์ ก็จะมีปัญหาเรื่องของการขาดหายความเก่าแก่ของฝีมือช่างโบราณ ที่สร้างขึ้นมาแล้วมีอายุ 191 ปี และจะไม่เกิดการศึกษาฝีมือช่างโบราณของคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญของบานประตูนี้ คือ การแกะสลักไม้แผ่นเดียวทั้งชิ้น ที่ไม่มีการต่อ เป็นลายพุทรา มีความลึกถึง 15 เซนติเมตร โดยลายดอกมีความละเอียดถึง 6 ชั้น ถือว่าผู้แกะสลักบานประตูนี้ มีความเก่งมาก งานชิ้นนี้จึงนับได้ว่าเป็นศิลปกรรมแกะสลักชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งหาดูได้ยากมาก โดยคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซม 2 ปี เมื่อดำเนินการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมาไว้จัดแสดงไว้ให้ประชาชนศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร