xs
xsm
sm
md
lg

จี้สื่อหยุดแพร่ภาพเปิดหน้าเหยื่อเหตุรุนแรง ชี้ละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สค.พม.จี้สื่อหยุดเผยภาพเปิดหน้าเหยื่อเหตุรุนแรง ชี้ละเมิดสิทธิ แม้แต่คนจัดแถลงก็ต้องระวัง แนะถาม จนท.ก่อนว่าสิ่งที่เสนอไปผิดกฎหมายหรือไม่ ด้านองค์กรสตรีกระตุก รมว.พม.คนใหม่ ต้องมีวิสัยทัศน์บริการประชาชน ย้ำรัฐต้องปรับปรุงบุคลากรให้มีความตระหนักช่วยเหลือแท้จริง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (4 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเสวนา “การคุ้มครองที่ไม่ละเมิดสิทธิ” จัดโดย สค.ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีกระบวนการและกลไกดูแลผู้ถูกกระทำ มีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล แต่ด้วยความหวังดีของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปช่วยให้เร็วขึ้น โดยเอาผู้เสียหายไปปรากฏผ่านสื่อต่างๆ หรือคาดหน้าไว้ว่าบ้านอยู่ที่ไหนเป็นบุตรใคร ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายห้ามเปิดเผยเพราะถือว่ามีความผิด เนื่องจากจะเป็นการละเมิดซ้ำต่อผู้เสียหายและบุคคลในครอบครัว

นายสมชาย กล่าวว่า ทั้งนี้ วิธีการที่ถูกต้องคือ เมื่อหน่วยงานที่ช่วยเหลือต้องการสื่อสารผ่านสังคม หรือแถลงข่าว ก็ไม่ควรปรากฏหน้าตา ชื่อ ที่อยู่ บิดามารดาหรือผู้เกี่ยวข้องของผู้เสียหาย เพราะจะผิดกฎหมายทันที ซึ่งผู้ถูกกระทำบอบซ้ำมามากแล้วยังต้องมาตอบคำถามต่อหน้าคนจำนวนมาก มีกล้องมาถ่ายภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น ทั้งนี้ รู้ว่าสื่อมวลชนมีเจตนาที่ดี ต้องการเสนอข่าวต่อสิ่งที่ปรากฏ และการเสนอข่าวบางครั้งอาจทำไปเพราะความไม่รู้ หากสื่อมวลชนมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เสนอไปนั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“การคุ้มครองสิทธิที่ไม่ละเมิดสิทธิสามารถทำได้ง่ายที่สุด คือ เราจะไปช่วยเหลือใคร เราต้องรู้ว่ากฎหมายระบุอย่างไร วิธีปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย หรือหากไม่รู้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยตรงเป็นผู้เข้าไปช่วยจะคล่องตัวกว่า และจะไม่ถูกละเมิดซ้ำ” นายสมชาย กล่าว

ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและผู้หญิง เมื่อเข้าไปรับบริการ เจ้าหน้าที่ทำได้แค่เพียงลงบันทึกประจำวัน โดยไม่มีการดำเนินการกับตัวผู้กระทำ ทั้งที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เขียนไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำสามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทั้งแบบธรรมดา หรือแบบฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายนี้จะช่วยควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้กระทำ ซึ่งส่วนใหญ่มูลนิธิก็ใช้มาตรการแบบฉุกเฉินในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ เนื่องจากได้ผลที่ดีและรวดเร็ว

น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ พม.โดย รมว.พม.คนใหม่ได้ประกาศศูนย์ช่วยเหลือสังคมเร่งด่วน 24 ชม.โทร.1300 พร้อมชูนโยบาย 3 ร. รับ-รุก-รวดเร็ว ก็ขอให้ทำได้จริง เพราะที่ผ่านมายังพบปัญหาคือ บุคลากรของรัฐยังขาดความรู้ความตระหนัก มีการเปลี่ยนตำแหน่งงานบ่อย ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประสบความรุนแรงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากพบว่าเจ้าหน้าที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีการลงโทษทางวินัย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างด้วย

จากการให้สัมภาษณ์และมอบนโยบายแก่บุคลากรของ พม.จึงเห็นว่าท่านมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล แต่จะทำอย่างไรให้บุคลากรของท่านมีวิสัยทัศน์ มีความรับผิดชอบ และทำหน้าที่บริการที่เป็นมิตรต่อผู้รับบริการ อีกทั้ง พม.ต้องสนับสนุนให้ผู้ประสบปัญหา สามารถใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น