ก.ค.ศ.เผยสั่งเพิกถอนกลุ่มส่อทุจริตสอบครูผู้ช่วยแล้ว 42 ราย เหลืออีก 65 ราย เร่งเขตพื้นที่ฯ ยังไม่ได้ดำเนินการรายงานผล ขณะที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ.เผยได้รับข้อมูลจาก สพฐ.พบมีผู้ทำคะแนนสูงกว่าปกติใน 5 วิชาเอก อีก 204 ราย ส่งข้อมูลให้ จุฬาฯ วิเคราะห์แล้ว ขณะที่ผู้ถูกเพิกถอน 60 ราย ขอยื่นอุทธรณ์แล้วรอตรวจสอบข้อมูลต่อไป
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้หารือเกี่ยวกับกรณีการเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่เข้าข่ายทุจริตจำนวน 344 ราย ใน 119 เขตพื้นที่ฯ ซึ่ง ก.ค.ศ.มีมติให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสั่งเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งดำเนินการเพิกถอนนั้น ซึ่งขณะนี้มีเขตพื้นที่ฯ รายงานว่ามีการดำเนินการเพียง 42 เขตพื้นที่ฯ และใน 42 เขตพื้นที่ฯ นั้นมีผู้เข้าข่ายการทุจริตสอบทั้งหมด 131 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูแล้ว 107 ราย ใน 38 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งทางสถานศึกษาผู้มีอำนาจได้ทำการเพิกถอนแล้ว 42 ราย ใน 22 เขตพื้นที่ ฯ เหลือที่ยังไม่สั่งเพิกถอนอีก 65 รายใน 19 เขตพื้นที่ฯ เพราะฉะนั้น ก.ค.ศ.จึงเร่งรัดให้เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้เพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งรายงานผลการดำเนินการเข้ามา รวมทั้งเร่งรัดให้อีก 77 เขตพื้นที่ฯที่ยังไม่ได้รายงานผลรีบรายงานเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ มีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนที่ไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งบางส่วนปฏิบัติหน้าที่เป็น ครูผู้ช่วย 24 ราย พนักงานราชการ 5 ราย ครูอัตราจ้าง 7 ราย และไม่สามารถระบุข้อมูลได้ 12 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้ ก.ค.ศ.ไม่สามารถตามไปดำเนินการกับต้นสังกัดได้เนื่องจากคนกลุ่มนี้สถานศึกษาเป็นจัดจ้างเอง จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะฉะนั้นต้องให้สถานศึกษา หรือต้นสังกัดไปพิจารณาเองหากเข้าข่ายการทุจริตสอบนั้น จะทำให้คนกลุ่มนี้ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์หรือระเบียบที่มีอยู่หรือไม่
ด้าน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งผลการตรวจสอบคะแนนใน 5 วิชาเอกมาเพิ่มเติมพบว่ามีผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย จำนวน 204 ราย ซึ่งพบว่าทำคะแนนได้สูงเกือบเต็มใน 5 วิชาเอกดังกล่าว แต่กลับทำข้อสอบผิดในข้อซ้ำๆ กัน ซึ่งเข้าข่ายว่ามีพิรุธ จึงรายงานให้ ก.ค.ศ.ทราบว่าในเบื้องต้น โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ขอให้ทางจุฬาลงกรณ์วิทยาลัยวิเคราะห์ผลคะแนนดังกล่าว เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ในจำนวน 204 รายนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าซ้ำซ้อนกับรายชื่อใน 344 คนหรือไม่
นางรัตนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ที่ถูกยกเลิกการบรรจุแต่งตั้งไปแล้ว จำนวน 60 รายในกลุ่ม 344 รายนั้นได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์มา ก.ค.ศ.ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดก่อนว่า ผู้อุทธรณ์ยื่นมาในเรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันจะขอให้เขตพื้นที่การศึกษาฯ ส่งข้อมูลคนเหล่านี้กลับมายังก.ค.ศ.เพื่อประกอบการพิจารณาจากนั้นจะสรุปเรื่อง และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะคณะอนุ ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ต่อไป