xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งเป้ากวาดงานประชุมการแพทย์เข้าไทยเพิ่มอีกเท่าตัว โกยเงินกว่า 1.1 แสนล.บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.จับมือ TCEB พรีเซนต์ไทยพร้อมเป็นศูนย์ประชุมระดับโลกด้านการแพทย์ คาด 3 ปีข้างหน้าโกยรายได้เข้าประเทศถึง 1.1 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตั้งเป้ากวาดงานประชุมเข้าประเทศเพิ่มอีกเท่าตัวจากปีละ 300 งาน เป็น 600 งาน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
วันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการนานาชาติทางการแพทย์ ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) ว่า การจัดประชุมวิชาการนานาชาติเป็นกลยุทธ์สร้างภาพพจน์ให้กับประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งของนโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ในด้านการเป็นศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดประชุมวิชาการในประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สากล และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถใช้ชื่อเสียงทางวิชาการอย่างเดียวไปเสนอจัดการประชุมได้ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นเข้ามาช่วยสร้างเชื่อมั่นด้วย ซึ่ง สบส.มีความพร้อมในด้านการจัดหานักวิชาการและเชื่อมประสานงานวิชาการต่างๆ ส่วนทีเส็บก็เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดประชุมระดับนานาชาติ จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลอุตสาหกรรมการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ หรือ ไมซ์ (MICE : Meeting/Incentive/Converntion/Exhibition) ในปี 2554 ทั่วโลกมีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติทั้งหมด 12,336 งาน มากที่สุดอยู่ที่ทวีปยุโรปคิดเป็นร้อยละ 55 ในเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 20 โดยงานประชุมดังกล่าวร้อยละ 18 เป็นงานประชุมด้านการแพทย์ หรือประมาณ 2,165 งาน ในส่วนของประเทศไทยพบว่าอุตสาหกรรมไมซ์ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว อย่างปี 2555 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 7,294 งาน แบ่งเป็นการจัดงานประชุมองค์กร 2,751 ครั้ง การประชุมนานาชาติ 2,643 ครั้ง และการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 1,900 ครั้ง ทั้งนี้ สัดส่วนการประชุมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์อยู่ที่ร้อยละ 12-15 หรือประมาณ 300 งาน ซึ่งภายหลังการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ตั้งเป้าให้ไทยสามารถดึงสัดส่วนการประชุมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพิ่มเป็นร้อยละ 25 หรือประมาณ 600 งาน

คาดการณ์ว่าภายในปี 2556 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ 940,000 คน รายได้จำนวน 88,000 ล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมไมซ์จะสร้างรายได้ให้ไทยกว่า 117,700 ล้านบาท โดยประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่การยกระดับการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีความรู้ที่ทันสมัย กระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางและทางอ้อม” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ต่างชาติ เพราะการจะดึงงานประชุมระดับนานาชาติเข้าสู่ประเทศไทยนั้น จะต้องมีการนำเสนอความพร้อมของประเทศ อย่างทีเส็บก็จะนำเสนอความพร้อมในด้านสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พัก โรงแรม การเดินทาง อาหาร ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ส่วน สบส.ก็จะมีความเชี่ยวชาญในการคัดเลือกงานประชุมว่างานใดที่น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงเชื่อมประสานงานด้านวิชาการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยมีความพร้อมในทุกด้านในการนำเสนอตัวต่อระดับโลกเพื่อจัดการประชุม


กำลังโหลดความคิดเห็น