xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์มหา’ลัย บุกพบ “พงศ์เทพ” ร้องปรับเงินเดือน 8% เท่ากับครู สพฐ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์มหา’ลัย แต่งดำบุกพบ “พงศ์เทพ” ยื่นข้อเรียกร้องปรับเงินเดือน 8% ให้อาจารย์มหา’ลัย มีเงินเดือนเท่ากับครู สพฐ.โวยที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเหลียวแลพร้อมเทียบอัตราเงินเดือนขั้นสูงระหว่างครู สพฐ.และอาจารย์มหา’ลัย ขณะที่ รมว.ศึกษาธิการ รับเป็นข้อเรียกร้องมีเหตุผลมอบ “ภาวิช” ไปศึกษาเม็ดเงินที่ต้องขอเพิ่ม ด้าน รองเลขาธิการ กกอ.เผยเตรียมเสนอ ครม.9 ก.ค.นี้ พิจารณา ร่าง กฎ ก.พ.อ.เรื่องเงินเดือนฯ ชี้หาก ครม.ไฟเขียวจะส่งผลดีให้อาจารย์มหา’ลัยที่มีตำแหน่งวิชาการมีเงินเดือนเลื่อนไหลได้

วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัวแทนที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พร้อมกลุ่มเครือข่ายข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ประมาณ 30 คน แต่งกายชุดดำเดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการเรียกร้องปรับเพิ่มเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัย พร้อมชูป้ายข้อความ อาทิ สองมาตรฐานในกระทรวงศึกษาธิการ ทำงานเหมือนกันแต่เงินเดือนต่างกัน ทำไมอาจารย์มหา’ลับบ เงินเดือนน้อยกว่าครูประถม, เราถูกทอดทิ้งมานานจึงมาถามหาความเท่าเทียม เงินเดือนสูงต่ำกว่ากันความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ครู สพฐ.สร้างนักเรียน อาจารย์มหา’ลัย สร้างบัณฑิต และป้ายแสดงตารางเปรียบเทียบเงินเดือนระหว่างครู สพฐ.และอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น



โดย นายอติชาติ ภูมิวณิชชา ตัวแทนเครือข่ายข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า การมาของพวกตนในครั้งนี้เพื่อมาทวงถามความคืบหน้าหลังมีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยขอให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือน 8% เพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเงินเดือนเท่ากับข้าราชการครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งมีการเลื่อนไหลข้ามแท่งในกรณีเงินเดือนตัน ขณะเดียวกัน หากมีการปรับเพิ่มเงินเดือนครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกก็ให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย เพราะเป็นข้าราชการในกระทรวงเดียวกัน มีภาระหน้าที่งานคล้ายกัน คือ สอนหนังสือ จึงควรได้รับเงินเดือนและความก้าวหน้าที่ทัดเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดสองมาตรฐานใน ศธ.

การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นการเรียกร้องศักดิ์ศรีของอาจารย์ด้วย เพราะที่ผ่านมาคนมักคิดว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือนสูงกว่าครู แต่ความเป็นจริงเมื่อมีการเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนขั้นสูงระหว่างครูและบุคลากรทางการศึกษา (คศ.) กับอาจารย์มหาวิทยาลัย พบว่า ระดับ คศ.2 เงินเดือน 50,550 บาท อาจารย์ 39,630 บาท ครูรับมากกว่า 10,920 บาท ครู คศ.3 เงินเดือน 59,770 บาท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เงินเดือน 54,090 บาท ครูรับมากกว่า 5,680 บาท และครู คศ.4 เงินเดือน 66,480 บาท รองศาสตราจารย์ เงินเดือน 63,960 บาท ครูรับมากกว่า 2,520 บาท” นายอติชาติ กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ที่ให้การปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้เหมือนกับข้าราชการครู

ขณะที่ นายพงศ์เทพ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ข้อเรียกร้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนัก เพราะเมื่อก่อนครูกับอาจารย์ได้รับเงินเดือนเท่ากันแต่เมื่อมีการปรับเงินเดือนครูในขณะที่อาจารย์ไม่ได้รับการปรับให้เท่าเทียม จึงทำให้เกิดความแตกต่างทั้งๆ ที่เป็นผู้ให้การศึกษาเหมือนกัน จึงให้ ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปพิจารณาว่าต้องใช้เม็ดเงินเทาไหร่ เพราะการจะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องมีวงเงินงบประมาณที่ต้องแจ้งให้ทราบด้วย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณได้พิจารณา เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการบรรจุในงบประมาณปี 57 แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถที่จะวิธีการงบประมาณเพื่อของบกลางเพิ่มเติมได้ ซึ่งทราบว่าใช้วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะจะต้องดูรายละเอียด ทั้งวงเงินที่ต้องใช้ และจำนวนข้าราชการ อาจารย์ทั้งหมด รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้ปรับเพิ่มแล้วพนักงานมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนด้วย ซึ่งจะกระทบกับมหาวิทยาลัยโดยรวม ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงให้กลับไปศึกษาผลกระทบด้านการเงินและนำเสนออีกครั้ง ขณะเดียวกันที่ประชุมยืนยันร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตำแหน่งวิชาการ ที่ได้รับเงินเดือนถึงขึ้นสูง ของอันดับเงินเดือน ของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูง ของอันดับเงินเดือนเดิม โดยให้ไปอาศัยขั้นเงินเดือนในตำแหน่งถัดไป อีกหนึ่งตำแหน่ง โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 ก.ค.นี้

หาก ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ.อ.ดังกล่าวจะส่งผลให้ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) สามารถเลื่อนไหลไปกินเงินเดือนในระดับรองศาสตราจารย์ (รศ.) และ รศ.สามารถเลื่อนไหลไปกินเงินเดือนในระดับศาสตราจารย์ (ศ.) ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับข้าราชการครู และให้เกิดความเป็นธรรมกับนักวิชาการ” รศ.นพ.กำจร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น