ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
World Health Assembly หรือ WHA คือ การประชุมสมัชชาอนามัยโลก เป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เพื่อกำหนดแนวนโยบาย ควบคุม กำกับการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดและมีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดนโยบายสุขภาพของโลก มีขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการประชุมครั้งแรกมีขึ้นในปี 2491 ซึ่งเป็นปีของการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกและจัดต่อเนื่องกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 66 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุขระดับนำของประเทศสมาชิกเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม
ปีนี้มีข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีคนระดับผู้นำของโลกกล่าวถึง พอสรุปได้ดังนี้
แพทย์หญิงมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวในการปาฐกถาว่ารู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมากที่ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมกันผลักดันประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่การหารือในสหประชาชาติ และพร้อมที่จะสนับสนุนทุกประเทศในด้านวิชาการ รวมถึงการสร้างเวทีหารือต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในการทำให้ประชาชนทั่วโลกไม่ต้องล้มละลายจากการความเจ็บป่วยและเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ
นางเคธรีน เซเบเลียส (Kathleen Sebelius) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปาฐกถาซึ่งมีใจความสำคัญคือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดของระบบสุขภาพทั่วโลก โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ทุกคนต้องได้รับ โดยยกคำกล่าวของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ว่า “สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพมิใช่เป็นเพียงสิทธิของคนบางคน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย และสหรัฐฯพร้อมจะเป็นทั้งผู้นำและสนับสนุนให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะต้องร่วมกันกำจัดอุปสรรคของการเข้าถึงบริการในกลุ่มคนด้อยโอกาสและผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล”
นายแพทย์ จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในการเป็นผู้นำในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ โดยกล่าวว่า ในปี 2001 ธนาคารโลกในขณะนั้นได้เสนอผ่านรัฐบาลไทยว่าจะไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่ด้วยความกล้าหาญและผู้นำที่เข้มแข็งของไทย ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างครอบคลุม
กว่าสิบปีของการพัฒนาระบบจากจุดเริ่มต้นในปี 2545 ส่งผลให้ประชาชนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น คนไทยไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย
กว่าสิบปีของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยได้เรียนรู้จากความสำเร็จ ความล้มเหลว โดยทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน จนสั่งสมเป็นประสบการณ์และเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้ในการพัฒนาระบบหลักประกันในประเทศของตนเอง โดยมีความหวังว่า
สักวันหนึ่ง ทุกประเทศในโลกจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มนุษย์โลกจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ด้วยคุณภาพและมาตรฐาน และไม่มีใครสักคนต้องล้มละลายจากปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
อยากเห็นเป็นจริงได้ในชาตินี้ครับ