“โสมสุดา” เผยภูเขาไฟฟูจิลุ้นขึ้นมรดกโลก “พระบรมธาตุนครฯ” ติดรับรองบัญชีเบื้องต้น ห่วงเขมรสอดไส้แผนบริหารปราสาทพระวิหาร ประชุม กก.มรดกโลก
นางโสมสุดา ลียะวณิช ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ เปิดเผยว่า ศูนย์มรดกโลก องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ วันที่ 16-27 มิ.ย.นี้ ที่กรุงพนมเปญ ให้ตนรับทราบของวาระการประชุม มีทั้งหมด 21 วาระ แยกหัวข้อหลักๆ อาทิ การรายงานผลความก้าวหน้าของคณะทำงานติดตามด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ การพิจารณามรดกโลกอยู่ในภาวะอันตราย (the List of World Heritage in Danger) รับรองรายชื่อแหล่งที่เสนอเข้ามาในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List submitled) พิจารณาชื่อแหล่งที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nominations to the World Heritage List) ไปจนถึงวาระประชุมการเลือกประธานและประเทศที่เสนอเป็นเจ้าภาพในสมัยประชุมฯ ครั้งที่ 38 ปี 2557
โดยวาระประชุมของหัวข้อ 8D มีการกล่าวถึงขอบเขตและแผนบริหารจัดการของแหล่งมรดกโลก (Clarifications of property boundaries and sizes by States Parties in response to the Retrospective inventory) ที่ทางศูนย์มรดกโลกได้เพิ่มหัวข้อเข้ามาในช่วงหลังๆ เนื่องจากว่าระยะแรกของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่มีระเบียบขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ไม่มีเขตพื้นที่กันชน ไม่มีแผนบริหารการจัดการ ที่ปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวได้มีการสร้างโรงแรมใกล้ชิดกับแหล่งมากเกินไป ทำให้มรดกโลกแห่งนั้นเสี่ยงอยู่ในภาวะอันตราย ทำให้ศูนย์ฯ เห็นความจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่รักษามรดกโลกไว้ ดังนั้น ต้องกลับไปดูว่าแหล่งมรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจนขนาดของแหล่งยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีแผนบริหารจัดการ โดยในแต่ละปีจะมีการเร่งให้ประเทศนั้นดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
สำหรับมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของประเทศไทย ทั้ง 5 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร อุทยานฯ พระนครศรีอยุธยา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้มีการดำเนินการจัดทำพื้นที่ขอบเขตและกันชนไว้แล้ว ซึ่งทางไทยได้จัดทำเอกสารส่งไปยังศูนย์มรดกโลกให้รับทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระประชุมของหัวข้อ 8D จะกล่าวถึงขอบเขตและแผนบริหารจัดการของแหล่งมรดกโลกหลายแห่งที่ยังไม่มีพื้นที่ขอบเขตและกันชนที่ชัดเจน และยังไม่มีแผนบริการจัดการ โดยจำนวนนี้มีปราสาทพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีพื้นที่กันชนและแผนบริหารการจัดการปราสาทพระวิหาร เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย และอยู่ในกระบวนการของศาลโลก ซึ่งกัมพูชาต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารในเรื่องดังกล่าวส่งให้ศูนย์มรดกโลก จึงเป็นที่น่าจับตามองการประชุมกรรมการมรดกโลก ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ จะมีการเสนอแผนพื้นที่บริหารจัดการปราสาทพระวิหารเข้าวาระประชุมหรือไม่
ส่วนวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีการพิจารณามรดกโลกอยู่ในภาวะอันตราย 38 แห่ง รับรองรายชื่อแหล่งที่เสนอเข้ามาในบัญชีเบื้องต้น 80 แห่ง มีชื่อพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชของไทย ได้รับการบรรจุชื่อเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ พิจารณาชื่อแหล่งที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลก 36 แห่ง อาทิ ภูเขาไฟฟูจิ ญี่ปุ่น นาข้าวขั้นบันได จีน