xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาศักยภาพตำรวจ ช่วยชีวิตเบื้องต้น ทำคลอดฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ จส 100 จัด “การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ครั้งที่ 7” ให้แก่ ตำรวจจราจรฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร (โครงการพระราชดำริ) ตำรวจทางด่วน และตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน/ทองหล่อ/ห้วยขวาง/คลองตัน และดินแดง รวมประมาณ 100 นาย

ในปัจจุบัน ตำรวจจราจร นอกจากจะมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแล้ว ยังให้บริการประชาชนในด้านการนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดนำส่งโรงพยาบาลรวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับผู้ประสบเหตุต่างๆ ก่อนถึงโรงพยาบาล รวมไปถึงการจัดการบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ สำหรับทีมผู้ช่วยเหลือและผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เตรียมการรักษา ซึ่งจะพบเห็นได้จากการช่วยนำทางส่งผู้บาดเจ็บมายังแผนกฉุกเฉินและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในหลายๆ ครั้ง เพื่อให้การปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวของตำรวจจราจร มีประสิทธิภาพและผู้ประสบเหตุได้ประโยชน์สูงสุด

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทร์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้จัดโครงการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือการคลอดฉุกเฉิน สำหรับตำรวจจราจร ฝ่ายปฎิบัติการพิเศษการจราจร (โครงการพระราชดำริ) ในหลักสูตรดังกล่าวมาติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยจัดอบรมเรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น ให้มีความปลอดภัย ณ จุดเกิดเหตุ (Scene Safety) การช่วยเหลือการคลอดในสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการดูแลทารกแรกคลอดก่อนนำส่งโรงพยาบาล ให้แก่ ตำรวจจราจรฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร (โครงการพระราชดำริ) ตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน/ทองหล่อ/ห้วยขวาง/ดินแดง/คลองตัน และตำรวจทางด่วน รวมกว่า 100 นาย ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดการบรรยาย สาธิตและฝึกปฏิบัติโดยบุคลากรและทีมแพทย์ที่มีความชำนาญของโรงพยาบาลให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม และจัดให้มีการทดสอบภาคปฏิบัติด้วย

ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ตำรวจผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้และประสบการณ์เพื่อสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เมื่อพบผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะการดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องก่อนถึงมือแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเบื้องต้น และยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อประสานงานด้านการจราจรเมื่อมีการลำเลียงผู้ป่วยและเป็นการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย

นพ.นพสิทธิ์ ธนะธีระพงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบัน มีอุบัติเหตุซ้อนอุบัติเหตุ ที่เกิดอันตรายขึ้นกับผู้กู้ภัยที่เข้าไปถึงเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปถึง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพึงระวัง ว่าต้องมีการจัดการบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ สิ่งสำคัญซึ่งทีมกู้ภัยหรือตำรวจต้องมีการประเมินสถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ การรู้และเข้าใจหลักการในการประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุเป็นหลัก อีกทั้งสามารถประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อทำการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง

ความปลอดภัยในสถานที่เกิดเหตุ (Scene Safety) เป็นสิ่งแรกที่ต้องจัดการ คือ 1.จอดรถห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 เมตร เพื่อให้สะดวกในการออกจากจุดเกิดเหตุ หากจุดเกิดเหตุไม่ปลอดภัยให้จอดรถห่างจากจุดเกิดเหตุ 33 เมตรขึ้นไป 2.สังเกตบริเวณโดยรอบเพื่อตรวจสอบหาแหล่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และมองหาแหล่งช่วยเหลือที่ต้องการ 3.ควบคุมฝูงชนและการจราจรในบริเวณจุดเกิดเหตุ เช่น การตั้งกรวยจราจรหรือป้ายเตือน โดยคิดระยะทาง (ฟุต) ในการตั้ง เท่ากับ 13 เท่าของความเร็ว (กม./ชม.), เปิดไฟจราจร, เปิดสปอร์ทไลต์ เพื่อให้ทราบว่าบริเวณนี้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นการจัดการพื้นที่ให้สะดวกแก่การเข้าช่วยเหลือและเพื่อความปลอดภัย 4.ตรวจสอบว่ามีวัตถุอันตรายหรือไม่ ถ้ามีคืออะไรและจะเป็นอันตรายต่อผู้ช่วยเหลืออย่างไร 5.ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าช่วยเหลือในการควบคุมสถานการณ์ 6.ในการช่วยเหลือควรมีอุปกรณ์เพื่อป้องกันตนเองที่เหมาะสมด้วย หลักจากนั้นทีมแพทย์หรือพยาบาลจะเข้าดำเนินการปฐมพยาบาลหรือกู้ชีพฉุกเฉินให้กับผู้บาดเจ็บ ประเมินตามสภาพ หรืออาการที่พบ ก่อนจะนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อทำการรักษาต่อไป

พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สูติ-นรีเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง การช่วยคลอดในภาวะฉุกเฉินว่า สิ่งแรกที่ผู้พบเหตุต้องทำคือ การประเมินผู้คลอดด้วยคำถามเบื้องต้น เช่น 1.เคยคลอดบุตรมาก่อนหรือไม่ 2.เจ็บถี่เพียงไร 3.มีน้ำเดินหรือไม่ เมื่อไหร่ 4.ปวดคล้ายเบ่งถ่ายหรือไม่ ฯลฯ หากพบข้อบ่งชี้ เช่น มีน้ำเดิน ปากช่องคลอดเปิดกว้าง 10 ซม.ให้เตรียมทำคลอดด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยทำคลอด ได้แก่ ผ้ารองซับเลือด, ลูกยางแดงปราศจากเชื้อ สำหรับดูดเมือกจากปากและจมูกทารก, ผ้าก๊อซปราศจากเชื้อ, ถุงมือปราศจากเชื้อ และขั้นตอนสำคัญในการช่วยคลอดคือ 1.ประคองศีรษะและลำตัวทารกไม่ให้ตกกระแทกพื้น 2.ดูดเมือกจากปากและจมูกทารกเพื่อป้องกันการสำลัก 3.ให้ความอบอุ่นกับทารก และหากพบว่าไม่มียานพาหนะในการขนย้าย หรือคาดว่าทารกจะคลอดภายในไม่เกิน 5 นาที หรือไม่มีแพทย์หรือโรงพยาบาลที่จะไปถึงได้อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ไม่ควรพยายามส่งผู้คลอดไปโรงพยาบาลหรือขนย้ายผู้คลอดโดยเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น