xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ยันตัดนมทิ้งลดเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แนะให้ลูกดูดบ่อยๆ ช่วยได้เช่นกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชี้ตัดเต้านมทิ้งลดโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แต่หากเกิดจากยีนส์ที่ผิดปกติมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ด้วย เผยหญิงไทยตายเพราะมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 3 โอกาสตรวจเจอระดับยีนส์ทำได้ยาก ยันขนาดเต้านมไม่เกี่ยวกับการเกิดโรค อึ้ง! กินฮอร์โมนแต่เด็กเพิ่มโอกาสเสี่ยง แนะออกกำลังกาย ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ช่วยลดอัตราเสี่ยงได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีแองเจลินา โจลี นักแสดงสาวชื่อดังเข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านมทั้ง 2 ออก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ว่า โรคมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งประมาณร้อยละ 1-5 เกิดจากยีนส์ที่มีความผิดปกติซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) หากตรวจพบยีนส์ผิดปกติประเภทนี้จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 50-80 นอกจากนี้ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ด้วย ทั้งนี้ การตัดเต้านมทิ้งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องเพราะยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ด้วย

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์อยู่ในสัดส่วนเท่าไร เนื่องจากเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติในระดับยีนส์ยังมีราคาสูง และสามารถทำได้เพียงไม่กี่ทีเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจากยีนส์ จะสังเกตได้ว่าจะมีประวัติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง หรือมีพี่น้องมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็ง หรือ เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายในครอบครัวญาติพี่น้องสายตรง หากมีสัญญาณดังกล่าวควรจะหมั่นตรวจเช็กความผิดปกติ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการตรวจแบบแมมโมแกรม ซึ่งมีความละเอียดสูง จึงจะสามารถตรวจหาสัญญาณความผิดปกติได้ ส่วนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีสัญญาณความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในครอบครัวจะแนะนำให้ตรวจหาความผิดปกติที่อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งจะต่ำกว่าชาวตะวันตก

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมในไทย มีผู้ป่วยปีละ 13,000 คน และเสียชีวิตปีละ 4,600 คน เฉลี่ยเสียชีวิต 12 คนต่อวัน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับที่เป็นการเสียชีวิตอันดับ 1 มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 90 และมะเร็งปากมดลูกที่เป็นการเสียชีวิตอันดับ 2 มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 ปรากฏการณ์ของโรคส่วนใหญ่จะพบในหญิงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคอยู่ที่ 20 ต่อแสนประชากร ความเสี่ยงจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง (เฮโตรเจน) มากเกินไป ไม่สมดุล การรับประทานฮอร์โมนมากเกิดไป การรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่เด็ก การที่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดก่อน50 ปี ถือว่ามีภาวะเสี่ยง ส่วนสาเหตุจากพันธุกรรมในคนไทยถือว่าพบในต่ำกว่าประเทศตะวันตก

ขนาดของเต้านมไม่ได้มีผลที่ทำให้เกิดโรค เพียงแต่ยากแก่การตรวจคัดกรอง โดยในต่างประเทศจะใช้การตรวจด้วยเครื่องเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ การป้องกันมะเร็งเต้านมสามารถทำได้โดย การตรวจคัดคลำเต้านม ออกกำลังกาย ลดความอ้วน หรืองดการรับประทานอาหารมันจัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ ควรให้บุตรดื่มนมพบว่าสามารถช่วยอัตราการเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้” ผอ.สถาบันมะเร็ง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น