xs
xsm
sm
md
lg

ชี้บอร์ด อภ.สั่งปลด “หมอวิทิต” ออกจากตำแหน่งได้ไม่ต้องสอบสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยบอร์ด อภ.มีอำนาจสั่งปลด “หมอวิทิต” ออกจาก ผอ.องค์การเภสัชฯได้ โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน เหตุทำงานแบบสัญญาจ้าง ไม่ใช่ข้าราชการ ด้าน รมว.สธ.ปัดไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องผ่านตัวเอง ขณะที่ภาคประชาชนหวังบอร์ด อภ.จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด

วันนี้ (14 พ.ค.) แหล่งข่าวในองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เตรียมปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.ว่า ตำแหน่ง ผอ.อภ. เป็นการเข้าทำงานในลักษณะของสัญญาจ้าง ซึ่งถือว่าไม่ใช่ข้าราชประจำจึงไม่สามารถพิจารณาความผิดทางวินัยได้ แต่การพิจารณาไม่ต่อสัญญาจ้าง จะมีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจน เช่น บริหารงานอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มาตรา 25 ยังระบุว่า ผู้อำนวยการจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือคณะกรรมการให้ออกจากตำแหน่ง ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีการชี้มูลความผิดจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็จะขึ้นอยู่กับอำนาจของบอร์ด อภ.ในการพิจารณาเลิกสัญญาจ้างแล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เนื่องจาก บอร์ด อภ.มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ผ่านมติบอร์ดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐมนตรี สธ.

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่า บอร์ด อภ.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร แต่หวังว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บอร์ด อภ.ควรเป็นอิสระอย่างแท้จริง และมีเหตุผลอย่างถูกต้อง ซึ่งหากสุดท้ายมีการปลด นพ.วิทิต ก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าเพราะอะไร ส่วนทางภาคประชาชนจะเฝ้าติดตามและหารือว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้อยากยึดที่ตัวบุคคล แต่หากมองกลับกันจะพบว่า นพ.วิทิต ยังอยู่ในวาระ ซึ่งควรให้ทำงานจนครบวาระก่อนจะดีกว่าหรือไม่ เพราะหากปลดออกก็ต้องทำสัญญาว่าจ้างผู้อำนวยการคนใหม่อีกถือว่าเสียเวลา และ อภ.จะเสียผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศในเรื่องการเข้าถึงยา

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ นพ.วิทิต ดำรงตำแหน่ง ผอ.อภ.มีการบริหารยาที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง และโรคร้ายแรงสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ต้องใช้ยาราคาแพงจากต่างประเทศ แต่สามารถใช้ยาชื่อสามัญหรือยาที่มีคุณสมบัติและคุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบราคาแพง แต่จากข่าวปัญหาต่างๆ ที่ อภ.ประสบอยู่ รวมทั้งตัว นพ.วิทิต เองทำให้สังคมเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใด เรื่องนี้ รมว.สธ.และประธานบอร์ด อภ.ควรออกมาตอบคำถามให้ชัดเจนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) เวลา 16.00 น.ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.วิทิต จะแถลงข่าวเปิดใจถึงกรณีต่างๆ ของ อภ.ด้วย หลังจากเข้าให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
กำลังโหลดความคิดเห็น