สภา กทม.เสนอผู้บริหารตรวจระดับถนนและความสูงสะพานลอยทั่วกรุงเทพฯ ห่วงเกิดเหตุซ้ำรอยอุบัติเหตุรถบรรทุกเกี่ยวสะพานลอยคนข้ามถล่มทับคนเสียชีวิตในพื้นที่ทวีวัฒนา พร้อมแนะกรมขนส่งทางบกเข้มงวดควบคุมความสูงรถบรรทุก ทั้งกระตุ้น กทม.หารือกรมทางหลวงจัดสรรงบประมาณปรับปรุงสะพานลอย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่
วันนี้ (14 พ.ค.) นายสุไหง แสวงสุข ส.ก.เขตทวีวัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมติดตามโครงการก่อสร้างสะพานลอยและปรับปรุงถนนในพื้นที่เขตทวีวัฒนา รวมทั้งตรวจสอบสาเหตุสะพานลอยถล่ม โดยมีนายธวัชชัย อรรคนิตย์ ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา นายถาวร คงบัว หัวหน้าฝ่ายโยธา เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง สถานีตำรวจธรรมศาลา และผู้เกี่ยวข้องชี้แจง ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตทวีวัฒนา จากนั้นทางคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุสะพานลอยถล่มบริเวณช่วงตัดพุทธมณฑลสาย 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา
นายสุไหง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่รถบรรทุก 28 ล้อ ของบริษัท หลักทอง โลจิสติกส์ บรรทุกแท่นขุดเจาะน้ำมัน สูงประมาณ 5.30 เมตร เกี่ยวคานสะพานลอยคนข้ามเส้นทางถนนบรมราชชนนีขาออก ใกล้เคียงกับตัดกับถนนพุทธมณฑล สาย 3 เขตทวีวัฒนา ทำให้หล่นลงมาทับรถยนต์จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยทางคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่าสะพานลอยดังกล่าวเป็นงบประมาณที่ กทม.ดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังได้ส่งมอบให้กรมทางหลวงดูแล ซึ่งจากการชี้แจงของหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบว่าสะพานลอยมีความสูงในระดับจากพื้นถนนถึงใต้ท้องสะพานเพียง 5.20 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่จะต้องมีระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 5.50 เมตร ทั้งประกอบกับถนนบรมราชชนนี กรมทางหลวงได้ดำเนินการปรับปรุงระดับถนนเพิ่มขึ้นอีก 10-20 ซม.เพื่อป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งการปรับปรุงถนนอาจส่งผลต่อระดับความสูงของสะพานลอย หรืออาจเป็นเพราะการก่อสร้างสะพานลอยไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้รถบรรทุกคันดังกล่าวได้ขับผ่านมาหลายสะพานลอย แต่ไม่ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งตรวจสอบสะพานลอยทั้ง 50 เขต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งยังพบว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวมีความสูงและน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังไม่ได้ขออนุญาตจากกรมขนส่ง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดรถขนส่งประเภทต่างๆ ไม่ให้สูงเกิน 4.30 เมตร หากสูงเกินจะต้องทำการขออนุญาตก่อนนำออกไปใช้งาน โดยขณะนี้ทางกรมทางหลวงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและได้รับความเสียหาย จะดำเนินการฟ้องร้องบริษัทเอกชนคู่กรณีต่อไป
ด้านนายประสิทธิ์ รักสลาม ส.ก.เขตวัฒนา ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า สำนักการโยธา (สนย.) กทม. ควรออกแบบโครงสร้างสะพานลอยคนข้ามให้มีความแข็งแรง และเป็นรูปแบบเดียวกันทุกเขต ทั้งควรมีการเช็กค่ามาตรฐานและวัดระดับถนน พร้อมกับความสูงของสะพานลอยให้อยู่ในระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 5.50 เมตร หรือก่อสร้างเพิ่มระดับความสูงเป็น 6 เมตร เพื่อรองรับการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต เนื่องจากพบว่าในหลายพื้นที่มีการปรับปรุงระดับถนน อาจทำให้ระดับความสูงถนนเกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งควรติดป้ายประชาสัมพันธ์ความสูงบริเวณสะพานลอยเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ กทม.ควรหารือกับกรมทางหลวงถึงการตั้งงบประมาณเร่งด่วนในการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานลอยที่ได้รับความเสียหายเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องใช้สะพานลอยข้ามถนนเป็นประจำ ประกอบกับกรมการขนส่งควรมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบความสูงของรถบรรทุกและน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนในเขตทวีวัฒนา โดยคณะกรรมการฯจะนำปัญหาที่พบและข้อมูลจากการชี้แจงไปประชุมร่วมกับสมาชิกสภา กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมต่อไป
วันนี้ (14 พ.ค.) นายสุไหง แสวงสุข ส.ก.เขตทวีวัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมติดตามโครงการก่อสร้างสะพานลอยและปรับปรุงถนนในพื้นที่เขตทวีวัฒนา รวมทั้งตรวจสอบสาเหตุสะพานลอยถล่ม โดยมีนายธวัชชัย อรรคนิตย์ ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา นายถาวร คงบัว หัวหน้าฝ่ายโยธา เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง สถานีตำรวจธรรมศาลา และผู้เกี่ยวข้องชี้แจง ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตทวีวัฒนา จากนั้นทางคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุสะพานลอยถล่มบริเวณช่วงตัดพุทธมณฑลสาย 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา
นายสุไหง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่รถบรรทุก 28 ล้อ ของบริษัท หลักทอง โลจิสติกส์ บรรทุกแท่นขุดเจาะน้ำมัน สูงประมาณ 5.30 เมตร เกี่ยวคานสะพานลอยคนข้ามเส้นทางถนนบรมราชชนนีขาออก ใกล้เคียงกับตัดกับถนนพุทธมณฑล สาย 3 เขตทวีวัฒนา ทำให้หล่นลงมาทับรถยนต์จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยทางคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่าสะพานลอยดังกล่าวเป็นงบประมาณที่ กทม.ดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังได้ส่งมอบให้กรมทางหลวงดูแล ซึ่งจากการชี้แจงของหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบว่าสะพานลอยมีความสูงในระดับจากพื้นถนนถึงใต้ท้องสะพานเพียง 5.20 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่จะต้องมีระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 5.50 เมตร ทั้งประกอบกับถนนบรมราชชนนี กรมทางหลวงได้ดำเนินการปรับปรุงระดับถนนเพิ่มขึ้นอีก 10-20 ซม.เพื่อป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งการปรับปรุงถนนอาจส่งผลต่อระดับความสูงของสะพานลอย หรืออาจเป็นเพราะการก่อสร้างสะพานลอยไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้รถบรรทุกคันดังกล่าวได้ขับผ่านมาหลายสะพานลอย แต่ไม่ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งตรวจสอบสะพานลอยทั้ง 50 เขต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งยังพบว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวมีความสูงและน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังไม่ได้ขออนุญาตจากกรมขนส่ง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดรถขนส่งประเภทต่างๆ ไม่ให้สูงเกิน 4.30 เมตร หากสูงเกินจะต้องทำการขออนุญาตก่อนนำออกไปใช้งาน โดยขณะนี้ทางกรมทางหลวงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและได้รับความเสียหาย จะดำเนินการฟ้องร้องบริษัทเอกชนคู่กรณีต่อไป
ด้านนายประสิทธิ์ รักสลาม ส.ก.เขตวัฒนา ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า สำนักการโยธา (สนย.) กทม. ควรออกแบบโครงสร้างสะพานลอยคนข้ามให้มีความแข็งแรง และเป็นรูปแบบเดียวกันทุกเขต ทั้งควรมีการเช็กค่ามาตรฐานและวัดระดับถนน พร้อมกับความสูงของสะพานลอยให้อยู่ในระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 5.50 เมตร หรือก่อสร้างเพิ่มระดับความสูงเป็น 6 เมตร เพื่อรองรับการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต เนื่องจากพบว่าในหลายพื้นที่มีการปรับปรุงระดับถนน อาจทำให้ระดับความสูงถนนเกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งควรติดป้ายประชาสัมพันธ์ความสูงบริเวณสะพานลอยเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ กทม.ควรหารือกับกรมทางหลวงถึงการตั้งงบประมาณเร่งด่วนในการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานลอยที่ได้รับความเสียหายเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องใช้สะพานลอยข้ามถนนเป็นประจำ ประกอบกับกรมการขนส่งควรมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบความสูงของรถบรรทุกและน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนในเขตทวีวัฒนา โดยคณะกรรมการฯจะนำปัญหาที่พบและข้อมูลจากการชี้แจงไปประชุมร่วมกับสมาชิกสภา กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมต่อไป