ทปอ.ไม่ท้อ! ดันต่อขยายอายุวีซ่า หลังอธิบดีกรมกงสุล ปฏิเสธข้อเสนอใช้เหตุผลเดียวกับ สตช.-ตม.“สมคิด” จ่อเข้าพบ รมว.กต.หารือโดยตรง รวมทั้งขอให้ “พงศ์เทพ” ช่วยเจรจาอีกรอบตามที่เคยรับปากช่วยผลักดัน ย้ำข้อเสนอเพื่อประโยชน์มหา’ลัยและประเทศชาติเมื่อเข้าสู่อาเซียน ขณะที่ จุฬาฯ เตรียมเสนอขอเลื่อนปฏิทินรับพระราชทานปริญญาบัตร ให้สอดรับการเปิด-ปิดเทอมใหม่รับอาเซียน จากเดิม ก.ย.ไปเป็น ต.ค.แทน
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้หารือถึงกรณีที่ ทปอ.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อขอปรับแนวปฏิบัติหนังสืออนุญาตเข้าประเทศ หรือ วีซ่า สำหรับอาจารย์และนักศึกษาต่างชาติ โดย ทปอ.ขอให้นักศึกษาต่างชาติสามารถเรียนจนจบหลักสูตรไม่ต้องต่อวีซ่าทุก 3 เดือน รวมถึงอาจารย์ต่างชาติให้วีซ่าอยู่ได้จนครบสัญญาจ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก และไม่ขัดกับที่ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งทาง กต.โดยอธิบดีกรมการกงสุลได้ตอบหนังสือกลับมาแล้ว พร้อมปฏิเสธในข้อร้องขอ ที่ ทปอ.เสนอไปโดยให้เหตุผลเดียวกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ ทปอ.เคยขอความร่วมมือไปก่อนหน้านี้ว่าขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้มีความยุ่งยาก
“ทปอ.ยืนยันไม่เห็นด้วยกับคำตอบของทั้ง สตช.และ กต.เพราะคิดว่าการขอวีซ่าของกลุ่มคนดังกล่าว เป็นการตอบสนองของมหาวิทยาลัยต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยรับอาจารย์เข้ามาทำงานก็ต้องคัดกรองคนที่มีคุณภาพเข้ามา ส่วนนักศึกษาต่างชาติเราก็ดูแลดีพอสมควร ฉะนั้นสิ่งที่เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยเห็นว่าการต่ออายุวีซ่าบ่อยๆ เป็นเรื่องสิ้นเปลืองเวลาและกำลังคน” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทปอ.จะไปเจรจากับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้นายพงศ์เทพ ไปเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกรอบ เนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ เคยรับปากจะผลักดันเรื่องนี้ รวมถึงจะขอเข้าพบเพื่อหารือโดยตรงกับ รมว.ต่างประเทศ ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการหารือผ่านเอกสารเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เข้าใจรายละเอียดทั้งหมด
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ได้เสนอในที่ประชุมทปอ.เรื่องการเลื่อนปฏิทินการรับพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับการเลื่อนเปิดเทอมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะขยับไปเป็นเดือน ส.ค.-ก.ย.เพราะหากเป็นไปตามกำหนดเดิมนักศึกษาจะยังไม่จบการศึกษา เช่นของจุฬาฯ จากเดิมกำหนดรับพระราชทานปริญญาบัตรเดือน ก.ค.ก็ขอเลื่อนไปเป็นช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน ต.ค.แทน ซึ่งทาง ทปอ.ขอให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ที่เลื่อนเปิดภาคเรียน ไปดูตารางเวลากำหนดการรับพระราชทานปริญญาบัตรของตนเองให้แน่นอน ซึ่งเมื่อลงตัวทุกแห่งแล้ว โดยทาง ทปอ.จะทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวังเพื่อพิจารณาต่อไป