xs
xsm
sm
md
lg

คกก.กำลังคนสุขภาพ เชิญ สธ.แจง P4P หวั่นกระทบชนบทเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นพ.มงคล ณ สงขลา
คณะกรรมการกำลังคนเชิญรองปลัด สธ.-ผอ.สนย. สธ. แจงนโยบาย P4P หวั่นส่งผลกระทบชนบทเสียหายหนัก พร้อมจี้ สธ.เร่งแก้ปัญหา

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำลังคนได้เชิญ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุวัฒน์ กิตติดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน(สนย.) สธ. มาชี้แจงถึงนโยบายการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และการจ่ายตามแบบภาระงาน (P4P) โดยคณะกรรมการได้มีมติร่วมแสดงความวิตกปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากนโยบาย P4P จะทำให้กำลังคนด้านสาธารณสุขในชนบทเสียหายอย่างแน่นอน ฉะนั้นขอให้กระทรวงสาธารณสุขรีบแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

การจ่ายตามภาระงาน (P4P) ไม่สามารถใช้ทดแทนการให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน คณะกรรมการฯ กังวลอย่างมากว่ากำลังคนด้านสุขภาพที่ทำงานในชนบทที่ปัจจุบันมีปัญหาความขาดแคลนอยู่บ้าง จะวิกฤตยิ่งขึ้น คนจะหนีจากชนบทมากยิ่งขึ้นเมื่อขาดการสนับสนุน ไปอยู่ที่สบายกว่า โดยเฉพาะกำลังคนทางด้านการแพทย์จะยิ่งขาดแคลน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนในชนบท จึงมีความเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรทำให้ปัญหานี้ยุติโดยเร็ว” ประธานฯ กล่าว

นพ.มงคลกล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวอยากให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขปรับลดนโยบายโดยใช้กับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปที่สภาพการทำงานเหมาะกับ P4P มากกว่า ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนนั้น ขอให้ถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดย P4P เป็นลักษณะเพิ่มเติม (on top) จากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เชื่อว่าเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ คนเริ่มเห็นข้อดีอาจจะทำให้โรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดเข้าร่วมโครงการได้ในอนาคตก็เป็นได้ และอยากให้ นพ.ประดิษฐประกาศให้ชัดไปเลยว่าจะไม่มีเฟส 2 เฟส 3 เพราะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายยังต้องคงอยู่ วัตถุประสงค์ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคือการสนับสนุนให้กำลังคนด้านสุขภาพอยู่ในพื้นที่ทำงานเพื่อชาวชนบท จะมาใช้ P4P ทดแทนกันไม่ได้ แต่อาจปรับให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นในส่วนของวิชาชีพต่างๆ

ด้าน นพ.สุพรรณ กล่าวว่า รู้ว่าจะเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่กล้าทำก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ยืนยันว่าทำบนหลักการที่ดีที่มีงานวิชาการสนับสนุน อาจเป็นปัญหาเชิงรายละเอียดที่ต้องปรับปรุงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกกรรมการกำลังคนฯ บางคนแย้งว่า หากเป็นหลักการที่ดีไม่น่าจะมีเสียงคัดค้านจนกลายเป็นปัญหาสังคมขนาดนี้ นอกจากนี้ งานวิชาการที่ทางผู้บริหารกระทรวงฯอ้างถึง โดยเฉพาะของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (IHPP) ชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลบในเรื่องคุณภาพ เพราะไม่มีการศึกษาใดๆ แสดงว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีขึ้น อีกทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายก็ชัดเจนว่าการทำ P4P ควรใช้ในบางสถานการณ์บางโอกาสเท่านั้น เมื่อเกิดความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในด้านกำลังคนแล้วก็ควรต้องยกเลิกการใช้ P4P แต่เหตุใดกระทรวง สธ.จึงมีนโยบายจะใช้โดยทั่วไป ปัญหาจึงลุกลามเช่นนี้ คณะกรรมการฯจึงต้องมีมติแสดงความห่วงใย ไม่เช่นนั้น กำลังคนที่อุทิศตัว อยู่มานาน เขารู้สึกว่าระบบนี้ไปข่มเหงเขาก็จะเกิดปัญหาบุคลากรได้

รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สุพรรณ รองปลัด สธ. และนพ.สุวัฒน์ ผอ.สนย.รายงานต่อคณะกรรมการกำลังคนฯ ว่า นโยบาย P4P ทำโดยข้อมูลพื้นฐานวิชาการ และความปรารถนาดี อาจจะทำเร็วเกินไป ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมจึงเกิดปัญหา ซึ่ง นพ.สุวัฒน์กล่าวว่า รู้สึกเสียใจ ตั้งใจเพื่อให้เกิดการพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น