xs
xsm
sm
md
lg

สมพงษ์ ลั่นหลักสูตรใหม่ “ประวัติศาสตร์” ไม่หาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมพงษ์” ลั่น หลักสูตรใหม่วิชา “ประวัติศาสตร์”ไม่หาย เน้นเด็กมีทักษะกระบวนเรียนรู้ คิดวิเคราะห์เป็น สนับสนุนกรรมการกล้าตัดทอนเนื้อหา

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้รับผิดชอบกลุ่มการเรียนรู้สังคมและมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า หลายฝ่ายห่วงใยเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ดังนั้น การปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โดยจะจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละระดับตามกรอบเวลาที่กำหนด พร้อมยืนยันว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่หายไปแน่นอน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะจัดในกลุ่มการเรียนรู้สังคมและมนุษยศาสตร์ หรือเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มการเรียนรู้อาเซียน ภูมิภาคและโลก แต่รูปแบบการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนไป โดยจะเปลี่ยนเป็นลักษณะโครงงาน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยเข้าไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาค ซึ่งเด็กจะสนุกสนานมากขึ้น ที่สำคัญเด็กจะมีพฤติกรรมการอ่านและค้นคว้าจากสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่และเอกสารต่างๆ เพิ่มขึ้น

“การปฏิรูปหลักสูตรรอบใหม่นี้ ปรากฏว่าไม่มีใครยินยอมให้ตัดเนื้อหาวิชาของตนเองออก ถ้าไม่มีใครยอมใครการปฏิรูปหลักสูตรก็คงไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นกรรมการแต่ละกลุ่มฯต้องกล้าตัดเนื้อหาออก ซึ่งยึดปัญหาของประเทศและตัวเด็กเป็นหลัก โดยเฉพาะคะแนนทดสอบระดับชาติและนานาชาติทั้งของPISA และ โอเน็ตที่ตกต่ำ หลักสูตรใหม่จึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาลดลง จากเดิมหลักสูตรเก่าเน้นมากกว่าร้อยละ 80 ก็จะลดให้เหลือร้อยละ 50 และให้ความสำคัญกับกระบวนการและเครื่องมือการเรียน 6 ประการ ได้แก่ การอ่านเพื่อการเรียนรู้ การเรียนในลักษณะโครงงานระบบข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ ความเป็นพลเมืองและคุณธรรม พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ การเรียนเพื่อการมีงานทำ” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้จะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น ไม่ใช่การเรียนโดยยัดเยียดเนื้อหา ซึ่งเด็กจะรู้วิธีการหาความรู้ คิดวิเคราะห์เป็น ส่วนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น จะเน้น 3 ด้าน ได้แก่ ภาษา วิทยาศาสตร์และวิชาชีพ เพราะเราต้องทำให้เด็กเตรียมพร้อมการเข้าสู่วิชาชีพตั้งแต่ม.ต้น เพื่อที่จะได้เลือกเส้นทางเมื่อถึงระดับม.ปลายว่าจะเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ ทั้งนี้คณะกรรมการทั้ง 6 กลุ่มจะประชุมวันที่ 3 พ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น