WHO รับหวัดนก H7N9 รุนแรงกว่า H5N1 เหตุสัตว์ปีกไม่แสดงอาการก่อนติดสู่คน เผยผลชันสูตรศพครอบครัวชาวจีน อาจเป็นการติดจากคนสู่คน แนะ สธ.เฝ้าระวัง ห่วงถอดยาโอเซลทามิเวียร์ออกจากบัญชียาหลักฯ กระทบผู้ป่วยและการรักษา
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ว่า วานนี้ (25 เม.ย.) ตนได้ทราบผลการชันสูตรศพครอบครัวชายชาวเซี่ยงไฮ้ อายุ 87 ปี ที่มีลูกชาย 2คน อายุ 38 ปี และ 20 ปี จากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบมีการติดเชื้อไข้หวัดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 จากคนสู่คน โดยพบเชื้อไข้หวัดนกทั้ง 3 คน แต่พ่อและลูกชายคนเล็กเสียชีวิต และจากการตรวจสอบผู้ป่วยในจีนล่าสุดทั้ง 110 คน ยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน จึงสันนิษฐานว่าเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 อาจมีการติดต่อจากคนสู่คนได้ และขณะนี้สัญญาณของโรคมีความเปลี่ยนไปจากเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายเป็นสัญญาณ จึงจะมีการติดต่อมายังคน แต่เชื้อ H7N9 พบสัตว์ปีกไม่ป่วยแสดงอาการ ขณะที่คนกลับป่วยติดเชื้อจึงถือว่าเชื้อมีความรุนแรงกว่า
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ข้อมูลของ WHO ยังพบว่า ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงชาวปักกิ่ง ที่พ่อไปซื้อไก่จากตลาดฝั่งตรงข้ามพบป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 แต่การรักษามีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส แต่ได้มีการรับประทานยาจีนก่อนการรักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ พบไข้ลดลงเหลือไม่ถึง 37.5 องศาเซลเซียส จากนั้นรักษาโอเซลทามิเวียร์ต่อ ซึ่งยาให้ความไวในการรักษา เด็กรอดชีวิต และจากข้อมูลยังพบบุตรชายของเจ้าของร้านขายไก่ป่วยแต่ไม่แสดงอาการด้วย จากข้อมูลเหล่านี้ WHO จึงสันนิษฐานว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ยังตอบสนองต่อยาโอเซลทามิเวียร์ และคนยังสามารถเป็นพาหะของโรคได้ โดยไม่แสดงอาการ
“มาตรการจากนี้ สธ.จะต้องเข้มความพร้อมของยา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาตร์ และประสานดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยว หากเจ็บป่วยรีบพบแพทย์ทันที ยังไม่มีความจำเป็นต้องห้ามการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนกรณีคณะกรรมการยาแห่งชาติเตรียมถอดยาโอเซลเซียสทามิเวียร์ออกจากยาบัญชียาหลักแห่งชาติผมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะเกรงว่าหากมีการเจ็บป่วยจะกระทบต่อการรักษาและผู้ป่วย” ที่ปรึกษา คร.กล่าว