กระทรวงสาธารณสุข ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญปลูกถ่ายไขกระดูก รักษาโรคมะเร็ง โรคเลือดจากกรรมพันธุ์ เช่น ธาลัสซีเมีย ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โชว์ความสำเร็จรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรายแรกเป็นเด็กอายุ 5 ขวบ พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์อีสานใต้ 5 จังหวัด
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าวเรื่อง “ความสำเร็จของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในการปลูกถ่ายไขกระดูก รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งแรกและอยู่ในภูมิภาค
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพในการรักษาผู้เจ็บป่วยของโรงพยาบาลในภูมิภาคขนาดใหญ่ คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้ทัดเทียมกับส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในต่างจังหวัดเข้าถึงบริการเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนและมีคุณภาพ ไม่ต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ใน กทม.โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ที่ผ่านมาการรักษาวิธีนี้ส่วนใหญ่ทำได้ที่โรงพยาบาลในกทม.และโรงเรียนแพทย์ จึงได้พัฒนาให้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน โดยได้จัดตั้งหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเลือดตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยรายแรกที่ปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นผลสำเร็จ เป็นผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 5 ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบบกลับเป็นซ้ำ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 พบว่าการรักษาได้ผลดี ผลการประเมินของทีมแพทย์เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 พบว่าไขกระดูกที่ปลูกถ่ายทดแทนทำงานได้ดี กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมพัฒนาจากหน่วยปลูกถ่ายให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไขกระดูกและการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์การเรียนฝึกอบรมด้านโรคเลือด โรคมะเร็ง ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เครือข่าย 5 จังหวัดในเขตอีสานใต้ ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ทั้งนี้ ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่หน้าที่สร้างเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือด ทำให้ร่างกายทำงานเป็นไปอย่างปกติสุข หากมีหน้าที่ผิดปกติหรือเม็ดเลือดมีปริมาณน้อยจะเกิดโรคขึ้น การรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการรักษาที่ใช้แพร่หลายในโรงเรียนแพทย์ โดยนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้ป่วยเองหรือจากผู้บริจาค (donor) รวมทั้งจากสายสะดือเด็ก (cord blood) มาให้ผู้ป่วย (recipient) เพื่อทดแทนให้ไขกระดูกทำงานได้ตามปกติ และหายขาดจากโรคได้ ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขให้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก ทั้งโรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มีผู้ป่วยประมาณ 600,000 คน พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 12 คนในต่อเด็กเกิดใหม่ทุกๆ 1,000 คน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,099 เตียง มีผู้ป่วยนอก 2,900 รายต่อวัน ผู้ป่วยใน 1,375 รายต่อวัน มีศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 ศูนย์ คือโรคหัวใจ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ และทารกแรกเกิด ดูแลประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดเข้ารับการรักษาที่หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ผู้ป่วยนอก กลุ่มโรคมะเร็ง 1,225 ครั้งต่อปีและกลุ่มโรคเลือด 2,400 ครั้งต่อปี เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคมะเร็งรายใหม่ 68 รายต่อปี พบมากสุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในผู้ป่วยกลุ่มโรคเลือด ที่เข้ารับการรักษาด้วยการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด คิดเป็น 850 ครั้งต่อปี ซึ่งการทำงานในหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูกในอนาคต จะต่อยอดการทำงานไปยังโรคต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าวเรื่อง “ความสำเร็จของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในการปลูกถ่ายไขกระดูก รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งแรกและอยู่ในภูมิภาค
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพในการรักษาผู้เจ็บป่วยของโรงพยาบาลในภูมิภาคขนาดใหญ่ คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้ทัดเทียมกับส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในต่างจังหวัดเข้าถึงบริการเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนและมีคุณภาพ ไม่ต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ใน กทม.โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ที่ผ่านมาการรักษาวิธีนี้ส่วนใหญ่ทำได้ที่โรงพยาบาลในกทม.และโรงเรียนแพทย์ จึงได้พัฒนาให้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน โดยได้จัดตั้งหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเลือดตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยรายแรกที่ปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นผลสำเร็จ เป็นผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 5 ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบบกลับเป็นซ้ำ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 พบว่าการรักษาได้ผลดี ผลการประเมินของทีมแพทย์เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 พบว่าไขกระดูกที่ปลูกถ่ายทดแทนทำงานได้ดี กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมพัฒนาจากหน่วยปลูกถ่ายให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไขกระดูกและการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์การเรียนฝึกอบรมด้านโรคเลือด โรคมะเร็ง ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เครือข่าย 5 จังหวัดในเขตอีสานใต้ ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ
ทั้งนี้ ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่หน้าที่สร้างเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือด ทำให้ร่างกายทำงานเป็นไปอย่างปกติสุข หากมีหน้าที่ผิดปกติหรือเม็ดเลือดมีปริมาณน้อยจะเกิดโรคขึ้น การรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการรักษาที่ใช้แพร่หลายในโรงเรียนแพทย์ โดยนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้ป่วยเองหรือจากผู้บริจาค (donor) รวมทั้งจากสายสะดือเด็ก (cord blood) มาให้ผู้ป่วย (recipient) เพื่อทดแทนให้ไขกระดูกทำงานได้ตามปกติ และหายขาดจากโรคได้ ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขให้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก ทั้งโรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มีผู้ป่วยประมาณ 600,000 คน พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 12 คนในต่อเด็กเกิดใหม่ทุกๆ 1,000 คน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,099 เตียง มีผู้ป่วยนอก 2,900 รายต่อวัน ผู้ป่วยใน 1,375 รายต่อวัน มีศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง 4 ศูนย์ คือโรคหัวใจ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ และทารกแรกเกิด ดูแลประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดเข้ารับการรักษาที่หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ผู้ป่วยนอก กลุ่มโรคมะเร็ง 1,225 ครั้งต่อปีและกลุ่มโรคเลือด 2,400 ครั้งต่อปี เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคมะเร็งรายใหม่ 68 รายต่อปี พบมากสุดคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในผู้ป่วยกลุ่มโรคเลือด ที่เข้ารับการรักษาด้วยการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด คิดเป็น 850 ครั้งต่อปี ซึ่งการทำงานในหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูกในอนาคต จะต่อยอดการทำงานไปยังโรคต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่