xs
xsm
sm
md
lg

“หุ่นยนต์แขนกล” เทคนิคบุรีรัมย์สุดเจ๋ง! ตอบโจทย์ใช้งานภาคอุตสหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...กศกาญจน์ บุญเพ็ญ

หลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมานานในที่สุดทีม B-TECH จากวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ก็สามารถฝ่าฟันทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 43 ทีมจากวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินไปสู่ความสำเร็จคว้ารางวัลชนะเลิศ รับถ้วยรางวัลพระราชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเภทหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ในงานมหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2555 หรือการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ABU ซึ่งปีนี้กำหนดหัวข้อเกมส์ที่ใช้แข่งขัน คือ The Green Planet หรือ หุ่นยนต์รักษ์โลกสีเขียว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-9 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลงานของ 4 นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง วท.บุรีรัมย์ ได้แก่ นายธนัสชัย แปลนดี , นายธนาคร ศรีมหาพรม,นายณฐพล โซ๊ะรัมย์ และนายรุ่งโรจน์ คิดรัมย์ โดยมี นายจรูญ นิพรรัมย์ อาจารย์แผนวิชาไฟฟ้ากำลัง ผู้ควบคุมดูแลทีม B-TECH

นายธนัสชัย ในฐานะหัวหน้าทีม B-TECH เล่าว่า หุ่นยนต์แขนกล หรือ B-TECH Arm Robot ตัวนี้นั้น พวกตนพัฒนาขึ้นตามที่ได้รับโจทย์ที่ได้รับมาอบหมาย คือต้องเจาะรู หยิบของจัดวางได้ เป็นต้น แต่ที่สำคัญหุ่นยนต์แขนกลดังกล่าวสามารถแก้ไขโปรแกรมได้ ซึ่งหลักการทำงานสำคัญๆ คือจะใช้เซอร์โวมอเตอร์ 6 ตัวใส่ในแกนสำคัญทั้งแกน X Y Z A และ B เพื่อรับสัญญาณพัลส์ ขณะเดียวกันก็นำโปรแกรมซีเอ็นซีเข้ามาใช้ร่วมด้วย ซึ่งหุ่นยนต์แขนกลนั้นสามารถเคลื่อนที่ไปซ้าย ขวา หรือหมุนได้โดยจะมีระบบเช็คระยะการหมุนที่แม่นยำด้วย ขณะเดียวกัน สามารถใช้งานได้ทั้งระบบการควบคุมโดยคนและระบบคอมพิวเตอร์ เช่น กรณีใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสั่งให้แขนกลทำการเจาะรู ก็แค่เขียนคำสั่งลงไปจากนั้นระบบก็จะประมวลผลและดำเนินการ เป็นต้น

“การแข่งขันในครั้งนี้พวกผมตั้งใจกันมากพยายามศึกษาอย่างละเอียด โดยเฉพาะตัวเซอร์โวมอเตอร์นั้นมีบางจุดที่มีความซับซ้อน และเป็นครั้งแรกที่พวกผมได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันแต่อาจารย์ก็ให้คำแนะนำและช่วยดูแลตลอดมาและในที่สุดก็ทำสำเร็จได้รับรางวัล ซึ่งพวกผมภูมิใจมาก” นายธนัสชัย กล่าว

ด้าน นายจรูญ อาจารย์ผู้ควบคุมทีม กล่าวเสริมว่า วท.บุรีรัมย์ มีความพยายามมานานหลายปีในการพัฒนาหุ่นยนต์แขนกลตัวนี้สามารถตอบสนองการทำงานของภาคอุตสหกรรมได้อย่างแท้จริง จนในปีนี้เราได้พยายามศึกษาและเลือกนำเทคโนโลยีปัจจุบัน คือ เซอร์โวมอเตอร์ ซึ่งเป็นมอเตอร์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความหลากหลายและความแม่นยำสูงในการทำงานมาใช้ในหุ่นยนต์แขนกลตัวนี้ ช่วยให้การทำงานของหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้นกำหนดเป้าหมายการทำงานได้ชัดเจน เช่น สั่งการให้เจาะ หรือเชื่อมชิ้นส่วน ทำได้อย่างแม่นยำ และในการแข่งขันที่ผ่านมาหุ่นยนต์แขนกลของวิทยาลัยได้รับการยกย่องด้วยว่ามีความแม่นยำมาก

“หุ่นยนต์แขนกลตัวนี้จะมีประโยชน์อย่างมากหากภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอดและพัฒนา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในส่วนของงานที่มีความซับซ้อน หรือความเสี่ยง เช่น การขึ้นรูปรถยนต์ งานประกอบ งานพ่นสี หรือที่เกี่ยวกับสารเคมี เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานคนทำอยู่ซึ่งในระยะยาวก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถ้าใช้หุ่นยนต์แขนกลทำงานเหล่านี้แทนแล้วสลับให้คนทำหน้าที่ควบคุมนั้นก็จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงานด้วย ในด้านการศึกษานั้นหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีมากที่วิทยาลัยจะนำมาใช้เพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษาและบุคลากรของเราโดยเฉพาะเสริมทักษะการควบคุมเครื่องจักรกล เป็นต้น” นายจรูญ กล่าว

เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จในคราวนี้เป็นก้าวย่างสำคัญ เป็นโอกาสดีที่ทำให้เห็นว่าเด็กช่างของเราก็ก้าวทันต่อความรุดหน้าของเทคโนโลยี รู้จักศึกษา คิดค้นเพื่อนำมาพัฒนาจนเกิดเป็นชิ้นงานคุณภาพ ที่สามารถต่อยอดนำไปสู่การใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น