กรมศิลป์พบอุโบสถวัดสิงห์อายุ 200 ปี ทรุดโทรมหนัก พาลัย-ปีกนก เสียหาย แต่ไร้งบบูรณะ เล็งเขียนแบบบูรณะ ประเมินราคา ก่อนเสนอสำนักงานเขตบางพลัด กรมศิลปากร ชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบูรณะ
นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่สำนักโบราณคดีได้สำรวจวัดที่ทรุดโทรมและอยู่ในข่ายจะต้องบูรณะในกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้พบวัดสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด กรุงเทพมหานคร มีอุโบสถเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ปัจจุบันทางใช้ประกอบศาสนพิธี สังฆกรรม เพียงแต่ว่าพาลัย ปีกนกด้านนอกชำรุดทรุดโทรมมาก อีกทั้งช่วงปี 2554 ที่ผ่านมาถูกน้ำท่วม ต้องมีการบูรณะอย่างเร่งด่วน แต่ไปยังหาเจ้าภาพบูรณะไม่ได้ จึงได้สั่งการให้นักโบราณคดีเร่งเขียนแบบเพื่อการบูรณะ เมื่อได้รูปแบบและประมาณราคาเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปจะต้องหางบประมาณบูรณะ ซึ่งอาจจะมีการของบประมาณสนับสนุนสำนักงานเขตบางพลัด กรมศิลปากร หรือผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทั่วไป
ส่วนประวัติวัดสิงห์ เว็บไซต์ของวัด www.watsing-bangphlat.com ระบุไว้ว่าสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2326 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากคำบอกเล่าของผู้รู้ และคนเก่าแก่ในพื้นที่บอกว่า บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเคยเป็นที่พักทัพในสมัยก่อน จึงสันนิษฐานว่า ผู้สร้างวัดคงจะเป็นแม่ทัพในสมัยนั้น เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงสร้างวัดขึ้นไว้ เพื่อเป็นการล้างบาปจากศึกสงคราม โดยอุโบสถหลังเก่ากว้าง 6 เมตร 15 เซนติเมตร ยาว 14 เมตร 23 เซนติเมตร ก่ออิฐถือปูน พระประธาน เป็นพระมีพุทธลักษณะสวยงาม น่าเลื่อมใส ศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย สันนิฐานว่าเป็นเนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัดอายุประมาณ 200 กว่าปี และมีพระอัครสาวกซ้าย-ขวา อีกรวม 2 องค์
สำหรับอุโบสถหลังใหม่นั้นสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2502 ภายในประดิษฐานประพุทธรูปหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ โดยชื่อวัดนั้น จะเป็นชื่อของผู้สร้างวัดด้วยหรือไม่นั้นไม่อาจยืนยันได้ แต่เดิมนั้นวัดนี้เรียกว่า “วัดสิงห์เงิน” ต่อมาคำว่า “เงิน” หายไป คงใช้เพียงคำว่า “วัดสิงห์” เท่านั้น