จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ในปี 2554 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในตับ จำนวนถึง 14,314 ราย เกินกว่าครึ่งเป็นคนอีสานหรือประมาณ 7,593 ราย ซึ่งมีพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นสารก่อมะเร็ง
แม้ สธ.จะพยายามหามาตรการมาลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดแบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้มากพอ
นั่นเป็นเพราะการแก้ปัญหาจากส่วนกลางอาจจะยังเข้าไม่ถึงประชาชนในพื้นที่
จำเป็นต้องให้คณะทำงานในพื้นที่ อย่างคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เป็นผู้แก้ไขปัญหา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.(พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม ประธาน อปสข.เขต 7 ขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า มะเร็งตับเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นของอีสาน อย่างขอนแก่นอาจพูดได้ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับจากพยาธิใบไม้ตับสูงที่สุดในไทยและโลก ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่รู้กันดีว่า เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ที่มีพยาธิใบไม้ตับอยู่ อปสข.ขอนแก่นในฐานะที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาระบบสุขภาพหรือโรคต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ เห็นว่าโรคมะเร็งตับเป็นโรคที่สำคัญและต้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน แต่ต้องให้คนในพื้นที่เป็นผู้แก้ไขเอง
“สำหรับแนวทางแก้ปัญหา เราได้สนับสนุนทุนให้คนในพื้นที่เป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการมากิน โดยเปลี่ยนมากินปลาแบบสุกแทน และสนับสนุนงบในการตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้น เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ เพราะยิ่งพบเร็วก็ยิ่งสามารถรักษาตัวได้เร็ว โอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งและตายก็จะน้อยลง”
ศ.(พิเศษ) นพ.สมพร บอกอีกว่า จากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า ประชาชนมีการติดพยาธิใบไม้ตับลดลง อย่างเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว จากการตรวจอุจจาระของประชาชนในพื้นที่พบว่ามีการติดพยาธิใบไม้ตับถึง 50-60% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20-30% เท่านั้น นอกจากนี้ อปสข.ขอนแก่นยังได้พิจารณาให้มีการผ่าตัดมะเร็งตับระยะแรกด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรอดจากความตายมากขึ้น เป็นการเซฟชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 20%
นอกจากโรคมะเร็งตับแล้ว ศ.(พิเศษ) นพ.สมพร ระบุด้วยว่า อปสข.ขอนแก่น พยายามที่จะลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ ด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงบริการในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้มากขึ้น โดยต้องเพิ่มจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งสามารถตรวจโรคเบื้องต้นให้รู้ก่อนได้ว่าเป็นโรคใด ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องไปรอคิว อย่างผู้หญิงปวดท้องไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านก็ต้องไปตรวจถึงหลายแผนกกว่าจะรู้ว่าเป็นโรคอะไรในช่องท้อง ก็ใช้เวลาไปเป็นวันๆ
“อย่างตอนนี้ที่ อปสข.ขอนแก่นทำอยู่ก็คือ โรคหอบหืด ซึ่งหากไม่รักษาตัวให้ดีจะมีการแอดมิดจำนวนมาก และโรงพยาบาลเกิดความแออัด จึงมีการร่วมมือกับ รพ.ศรีนครินทร์ วางระบบการให้ยาหอบหืดแก่ผู้ป่วยที่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งนอกจากช่วยลดการไปรับยาตามโรงพยาบาลใหญ่ได้แล้ว ยังลดการแอดมิดได้อีก”
การดำเนินงานแบบนี้เรียกได้ว่าคล้ายคลึงกับ อปสข.เขต 2 พิษณุโลก ซึ่ง นายสันติ กรุสวนสมบัติ ประธาน อปสข.เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า การลดความอัดของโรงพยาบาลในพิษณุโลกจะดูว่าพื้นที่ใดควรเป็นศูนย์บริการในเรื่องใด เช่น โรคหัวใจ ที่จำเป็นต้องมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด ก็จะมีการวางจุดบริการให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์อย่างเร็วที่สุด เป็นต้น
นอกจากนี้ นายสันติ ระบุว่า บทบาทหน้าที่ของ อปสข.พิษณูโลก ยังพยายามให้ประชาชนดูแลส่งเสริมสุขภาพของตัวเองด้วย เพื่อลดการเจ็บป่วยและมาโรงพยาบาล โดยเน้นการให้บริการตามกลุ่มวัย เช่น เด็กจำเป็นต้องได้รับวัคซีนให้ครบโดส ซึ่งจากการดำเนินงานของ อปสข.พิษณุโลก ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้มาก 95-97%