มูลนิธิเมาไม่ขับ เชื่อยอดเสียชีวิตเทศกาลสงกรานต์สูงกว่า 320 คน ลั่นรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายไร้ผล ชี้เหตุไม่เป็นผลเพราะใช้วิธีเก่าไม่ปรับปรุง แนะควรบังคับใช้กฎหมายจริงจจัง พร้อมจวก สสส.ไม่ทำหน้าที่หลักรณรงค์เมาไม่ขับทำแต่เรื่องอื่น เช่นเดียวกับ สธ.ขยันออกกฎหมายใหม่
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า คาดการณ์สถิติการเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 น่าจะสูงกว่า 320 คน เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตในแต่ละวันเฉลี่ย 40-50 คนต่อวัน และคงที่มานานหลายปี สลับหมุนเวียนทั้งช่วงสงกรานต์ และปีใหม่ เป็นเช่นนี้มานานเกือบ 10 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น 2.ปริมาณคนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 3.การดื่มสุราที่เพิ่มมากขึ้น และยังมาจากการที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการรณรงค์ใหม่นอกจากการรายงานอุบัติเหตุการเสียชีวิต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ทำเป็นประจำทุกปีแค่ 7 วัน ซึ่งหากมองปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นมาจากการเมาแล้วขับและการขับขี่ที่มีความเร็วสูง
อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ลดอุบัติเหตุต้องมีการปรับตัวใหม่ ดูบทบาทของตนเอง ว่าทำงานถูกที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ปภ. มท., กระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธิเมาไม่ขับ และ สสส.เพราะถือเป็นหน่วยงานหลัก วิธีการใหม่ที่จะช่วยลดอุบัติเหตุ คือการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีความจริงจังเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่โทษแค่รอลงอาญา ทำให้คนไม่เกรงกลัว ตรงข้ามกลับเตรียมเงินเล็กน้อย เพื่อเป็นค่าปรับ อีกทั้งเกือบทุกเทศกาล มักมีกฎหมายเกิดขึ้นใหม่ หลายฉบับ ล่าสุด กฎหมายดื่มเหล้าในรถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์ส่วนบุคคล บนท้องถนนถูกจับถูกปรับ ในเทศกาลสงกรานต์ เน้นใช้พยานแวดล้อม และเชิงประจักษ์ ในการตัดสินเอาผิด โทษหนักจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก ไม่รวมถึงกฎหมายอื่น ทั้งการสวมหมวกกันน็อก ที่ไม่มีความจริงจังประชาชนก็เพิกเฉย
“ถึงเวลาที่ต้องบังคับใช้บังคับกฎหมายให้จริงจัง ดีกว่าการออกกฎหมายใหม่ทุกปี กฎหมายใหม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ ออกกันมาเยอะแต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่เป็นผล และหน่วยงานอิสระ อย่าง สสส.ต้องทบทวนบทบาทตัวเอง เพราะมีหน้าที่หลักในการรณรงค์ ได้จากภาษีเหล้า บุหรี่ ไม่ใช่มารณรงค์เรื่องอื่น อย่างสวดมนต์ข้ามปี” นพ.แท้จริง กล่าว
ขณะที่ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงตัวเลขการบังคับใช้กฎหมายดื่มเหล้าในรถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์ส่วนบุคคล บนท้องถนนถูกจับถูกปรับ ในเทศกาลสงกรานต์ ว่า จากการลงพื้นที่ในทุกภาค ได้มีการตรวจการดื่มสุราในรถยนต์ได้ถึง 339 คน ถูกจับดำเนินคดี 172 คน และทำการตักเตือน 167 คน