xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยปั๊มลูกลดลง จี้แก้ปัญหาพร้อมแต่ไม่ท้อง หวั่นไร้คนดูแลยามแก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! ผู้หญิงมีลูกน้อยลง นักประชากรศาสตร์เผย 50 ปีที่แล้วมีลูกเฉลี่ย 6 คน ปัจจุบันนิยมมีคนเดียว เหตุอยากทุ่มเทให้ลูกคนเดียวมีคุณภาพ ขณะที่บางรายไม่อยากมีเพราะเป็นภาระ ชี้แก้ปัญหาท้องไม่พร้อมแล้ว ต้องแก้ปัญหาพร้อมแต่ไม่ท้องด้วย หวั่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไม่มีบุตรหลานดูแล ด้านกรมอนามัยแนะ หลัก 5 อ.ดูแลผู้สูงอายุ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
รศ.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ นักวิจัยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่จะตามมาเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือ การขาดคนดูแล เนื่องจากปัจจุบันคนวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป มักครองตัวเป็นโสด หากแต่งงานก็มักไม่ต้องการมีบุตร ส่งผลให้อีก 30 ปีข้างหน้า คนวัยทำงานกลุ่มดังกล่าวจะกลายเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ขาดบุตรหลานดูแล สุดท้ายก็จะต้องมีมาตรการทางภาษี โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนเฉพาะขึ้น และเก็บภาษีทางอ้อมกับคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 50 ปี จะพบว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีลูกมากกว่า 6 คน แต่ในปัจจุบัน นักประชากรคาดว่าตัวเลขอยากมีบุตรกลับเหลือที่สัดส่วนประมาณ 1 คน

รศ.ปังปอนด์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยรณรงค์ให้วัยรุ่นระวังการท้องไม่พร้อม แต่ในทางกลับกันปัญหา “พร้อมไม่ท้อง” ก็ส่งผลต่อวัยทำงานที่จะกลายเป็นวัยชราในอีกไม่กี่สิบปี เนื่องจากข้อเท็จจริงคู่สมรสที่พร้อมจะให้กำเนิดเด็กที่มีศักยภาพสูงแต่ไม่ต้องการมีบุตร หรือมีบุตรจำนวนไม่มาก เคยสอบถามนิสิตปริญญาตรีที่สอนในสถาบันศึกษาต่างๆ ว่า หากมีโอกาสแต่งงาน อยากมีบุตรกี่คน คำตอบที่ได้คือ ไม่มีเลย มีนิสิตนักศึกษาเพียง 1 คน ที่ตอบว่าต้องการมีบุตร 1 คนเท่านั้น

“เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ทางด้านประชากร สาเหตุสำคัญที่ไม่อยากมีลูกหรือมีเพียงคนเดียว เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากคู่สมรสประเมินว่าตัวเองไม่พร้อมที่จะมีบุตรที่ทำให้ต้องมีภาระในการเลี้ยงดูทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่หลายคนมองว่าเสื่อมโทรมลง ตรงนี้ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมเรื่องการมีลูกเพียงคนเดียวด้วย เพราะสนใจคุณภาพของลูก ที่สำคัญคือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มพ่อแม่ที่มีฐานะ แต่อยากทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดให้กับลูกคนเดียวเพื่อความเป็นเลิศ” รศ.ปังปอนด์ กล่าวและว่า อยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมเรื่องนี้ เนื่องจากแม้จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ แต่คงไม่เพียงพอ เพราะการคิดงบรายหัวจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะยิ่งเป็นภาระด้านงบประมาณ ดังนั้น ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการดูแลคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง

ด้าน นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในอาเซียน เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดคือ มีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 30 แต่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพและมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ยังน้อยมาก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กรมอนามัย จึงเร่งส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้สูงอายุสุขภาพดี และ 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย

การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ.ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1.อาหาร ครบ 5 หมู่ เน้นย่อยง่าย สะอาด เลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม เลี่ยงการแข่งขัน ออกแรงเกินกำลัง ความเร็วสูง 3.อารมณ์รื่นเริงยินดี จิตแจ่มใส มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด 4.อดิเรกคือ สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มพูนคุณค่า เกื้อกูลสังคม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม พบปะสังสรรค์ ปลูกต้นไม้ และ 5.อนามัย สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หมั่นตรวจและรักษาสุขภาพ ปฎิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ลดละเลิกอบายมุข” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ธีรพล กล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากการเตรียมความพร้อมของตัวผู้สูงอายุเองแล้ว ลูกหลานและครอบครัวควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุด้วย รวมทั้งสังคมก็ควรเกื้อหนุนอำนวยความสะดวกในสิ่งต่างๆ ตลอดจนจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวันที่ 13 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติและเป็นวันสงกรานต์ ซึ่งมีประเพณีรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ เพื่อให้คนครอบครัวได้กลับไปอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า พร้อมตา กระชับความสัมพันธ์ และสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น