xs
xsm
sm
md
lg

“วิธิตา” โหมแอปฯ ดันยอด ชี้แอนิเมชันคนไทยวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตแอนิเมชันไทย วอนรัฐให้ความสำคัญพร้อมสนับสนุนเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ หลังพบสิงคโปร์ มาเลเซียแซงหน้าไทย ส่งแรงงานไทยหันทำงานกับต่างชาติ เชื่อเปิดอาเซียนไทยอาจตามหลังอินโดนีเซียและเวียดนามได้ “วิธิตา” ปรับทัพเพิ่มแอปพลิเคชันช่วยดันยอด พร้อมประคองแอนิเมชันปังปอนด์สู่อาเซียน มั่นใจรักษาการเติบโตได้ที่ 10% เท่าปีก่อน
 
นายสันติ เลาหบูรณะกิจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ในเครือ บันลือกรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาพรวมการ์ตูนแอนิเมชันของคนไทยนั้นกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง ส่วนสำคัญมาจากปัจจุบันภาพรวมตลาดการ์ตูนแอนิเมชันทั้งหมดในไทยกว่า 95% มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากคนไทยยังนิยมดูแอนิเมชันจากญี่ปุ่นและอเมริกาเป็นหลัก ทำให้การ์ตูนแอนิเมชันไทยเติบโตได้น้อย ที่สำคัญช่องทางการนำเสนอให้การ์ตูนแอนิเมชันของไทยได้เป็นที่รู้จักนั้นมีน้อยลง โดยปัจจุบันพบว่าทางฟรีทีวีมีช่อง 3 เพียงช่องเดียวที่ยังคงมีพื้นที่ให้กับการ์ตูนแอนิเมชันของไทยได้ออกอากาศบ้าง
 
“แนวโน้มคนไทยยังให้ความสำคัญต่อการ์ตูนแอนิเมชันของไทยน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้กลุ่มแอนิเมชันส์เฮาส์ในไทยต้องปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันเนื่องจากสู้ต้นทุนไม่ไหว ที่สำคัญในแง่ของบุคลากรเองก็จะหันไปร่วมงานกับบริษัทต่างชาติในต่างประเทศมากขึ้นแทน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่พบว่าภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่จนมีการพัฒนาในเรื่องของตลาดการ์ตูนแอนิเมชันแซงประเทศไทยไปแล้วจากเมื่อ 3-4 ปีก่อนไทยยังเป็นเจ้าตลาดในเซาท์อีสต์เอเชียอยู่”
 
ที่สำคัญหากเปิด AEC ด้วยแล้ว มองว่าตลาดการ์ตูนแอนิเมชันจากอินโดนีเซียและเวียดนามก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำหน้าประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องการให้ทางภาครัฐเห็นความสำคัญของตลาดการ์ตูนแอนิเมชันให้มากนี้ และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการลงทุนด้านแอนิเมชันมากยิ่งขึ้น เพราะตลาดดังกล่าวถือเป็นตลาดสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอย่างมากในอนาคต หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง
 
นายสันติกล่าวต่อว่า ในส่วนของวิธิตานั้นยังคงพร้อมเดินหน้าพัฒนาการ์ตูนแอนิเมชันต่อไป พร้อมหาโอกาสเข้าไปทำตลาดในตลาดอาเซียนมากขึ้น จากปัจจุบันการ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง ปังปอนด์ ได้เข้าไปทำตลาดในต่างประเทศแล้วใน 7 ประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และจีน เป็นต้น โดยปีนี้ทางบริษัทยังได้พัฒนาคาแรกเตอร์การ์ตูนสู่รูปแบบแอปพลิเคชันลงบนมือถือสมาร์ทโฟนด้วย โดยให้บริการอยู่ 7 แอปพลิเคชัน ประกอบด้วย 1. ปังปอนด์ 4 แอปฯ แบ่งเป็นคอมิก 2 แอปฯ และเกม 2 แอปฯ และ 2. เป็นการพัฒนาคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนอื่นๆ ขึ้นมาอีก 3 ตัว คือ ชิคเก้น เบรก, นีโอ วูดู และเบเกอรี เอลฟ์ สู่แอปพลิเคชันที่เป็นเกม 2 แอปฯ และอินฟอร์เมชัน 1 แอปฯ  
 
ขณะที่ภาพรวมการทำงานของวิธิตามีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ 1. การสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง 2. รับจ้างผลิตทำทีวีซีรีส์แอนิเมชัน และ 3. นิวมีเดีย โดยรายได้หลักยังคงมาจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ในสัดส่วนเท่าๆ กันที่ 30-40% รวมเป็น 80% และที่เหลืออีก 20-25% มาจากนิวมีเดีย โดยมองว่าถึงสิ้นปีนี้รายได้รวมจะยังคงเติบโตราว 10% เท่าปีก่อน และหลังจากการเปิดตัวแอปพลิเคชันในปีนี้เพิ่ม มองว่าจนถึงสิ้นปีหน้าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 20% ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น