สพฐ.วิจัยใช้แท็บเล็ต ป.1 แบบเชิงประจักษ์พบเด็กมีพัฒนาการภาษาดีขึ้น สะท้อนผลตามความคาดหวังในการแจก ขณะที่พบว่าเด็กมีทักษะในการสืบค้นข้อมูล 65%
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับรายงานผลการวิจัยการใช้แท็บเล็ตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งได้มีการเจาะลึกมากขึ้นจากครั้งที่ผ่านมาที่ได้ทำการสำรวจผ่านระบบออนไลน์ โดยครั้งนี้ได้ลงไปทำการวิจัยกับโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 503 โรงเรียน นักเรียน 7,078 คน ครูผู้สอน 533 คน และผู้บริหาร 503 คน ซึ่งเน้นความสำคัญของเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์หรือผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจริงๆ โดยพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก พบว่าการใช้แท็บเล็ตในการเรียนนักเรียนมีพัฒนาการเรื่องการเรียนภาษาที่รวดเร็วขึ้น ทั้งการฟัง การฝึกพูด และการฝึกอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังว่า เมื่อมีการแจกแท็บเล็ตแล้วนักเรียนควรจะมีพัฒนาการ ทางด้านภาษาที่รวดเร็วขึ้น และประเด็นที่สอง การที่เราจะพัฒนาและเตรียมพร้อมผู้เรียนให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน และก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากล และมีทักษะสมรรถนะที่พึงมีตามศตวรรษที่ 21 ใน 3 ประการ คือ 1.ทักษะด้านภาษา 2.ทักษะด้านการแสวงหาความรู้และข้อมูล และ 3.ความสามารถในการนำข้อมูลมาทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น การวิจัยครั้งนี้ ได้ทดลองให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของสัตว์ตามที่ครูบอก ใช้เวลา 30 นาที ปรากฏว่ามีนักเรียน 100 คนที่มีความพร้อมทำการสืบค้นข้อมูล ประมาณ 65% ส่วนที่เหลือเป็นนักเรียนที่จะต้องปรับปรุงสมรรถนะ
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สพฐ.เห็นว่าข้อมูลส่วนนี้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการโครงการแท็บเล็บให้เกิดประสิทธิผลในปีต่อๆ ไป โดยการพัฒนาครู พัฒนาสื่อและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน คาดว่าเมื่อมีการขยายผลแท็บเล็ตในปีการศึกษาหน้า ประสิทธิภาพในการใช้แท็บเล็ตจะสูงขึ้น พร้อมกันนี้ มีข้อมูลประกอบเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการใช้แท็บเล็ต 3-4 ประการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องของตัวเครื่อง อาทิ เรื่องการชาร์ตแบต ระบบไฟฟ้า เป็นต้น โดยจากนี้ สพฐ.นำเสนอข้อมูลทั้งหมดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้แท็บเล็ตต่อไป