xs
xsm
sm
md
lg

เตือนหน้าร้อน คนฮิตบริโภคน้ำแข็ง ไอศกรีม ระวังปนเปื้อน ทำให้ท้องร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เตือน! หน้าร้อนคนนิยมบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็ง ไอศกรีม โปรดระวัง อาจปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย อย.แนะวิธีเลือกซื้อเพื่อความปลอดภัย

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา อย.มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมีการปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิตหรือเก็บรักษาไม่ดี เชื้อที่ปนเปื้อนจะเจริญเติบโตได้เร็ว โดยที่มักพบบ่อยในหน้าร้อน ได้แก่ เชื้อแซลโมเนลล่า วิบริโอ อีโคไล และ สแตฟฟิโลคอคคัสออเรียส เป็นต้น เป็นสาเหตุสำคัญของอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีมเป็นพิเศษ โดยการเลือกซื้อน้ำดื่ม ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ

ภญ.ศรีนวล กล่าวอีกว่า ส่วนน้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เช่น เครื่องหมาย อย.พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ส่วนน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งขาย ตามร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป จะเป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดย ไม่ต้องมีฉลาก ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งซึ่งต้องถูกลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น โดยก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซอง ควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน โดยนำมาล้างน้ำก่อนทุบหรือบดแล้วนำใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด สำหรับไอศกรีม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีกขาด (ไอศกรีมไม่รั่วซึมออกมา) ส่วนไอศกรีมประเภทตักขาย ตัวไอศกรีมต้องไม่มีสี กลิ่น รส ผิดปกติ และไม่เหลวหรือมีลักษณะเหมือนเคยละลายมา แล้ว และผู้บริโภค ต้องดูสุขลักษณะของผู้ขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเล็บมือ การแต่งกาย ภาชนะที่ใช้ใส่ไอศกรีมก็ต้องสะอาดด้วย

“ขอให้ผู้บริโภคป้องกันตนเองและเพิ่มความปลอดภัยในการบริโภค โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เช่น เครื่องหมาย อย.พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นต้น” รองเลขาธิการ อย.กล่าวและว่า หาก อย.ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น