สพฐ.ตรวจสอบเข้า ม.4 ร.ร.เตรียมอุดมฯ ชี้ภาพรวมอัตราสมัครเรียนลดลง มั่นใจเด็กมีที่นั่งทุกคน พร้อมฝากผู้ปกครองอย่ายึดติดชื่อเสียง ร.ร.ให้ดูศักยภาพลูกตัวเป็นสำคัญ
วันนี้ (24 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2556 ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมความเรียบร้อยการสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั่วประเทศในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.กำหนดการเปิดรับสมัครรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 1 และ ม.4 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14-18 มี.ค.2556 ซึ่งม.1 ได้จัดสอบแล้วเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2556 โดยวันนี้เป็นการสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.ได้มอบหมายให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรับนักเรียนขึ้น เพื่อออกตรวจบรรยากาศการสอบและการจับสลากที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.นี้ เพื่อให้การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2556 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งตั้งแต่วันแรกของการเปิดรับสมัครนักเรียนจนถึงตอนนี้ยังไม่พบปัญหาการร้อง เรียนแต่อย่างใดภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะเดียวกันในปีนี้อัตราการสมัครของนักเรียนลดลง สพฐ.จึงเชื่อมั่นว่าเด็กจะมีที่นั่งเรียนครบทุกคนอย่างแน่นอน
“โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่มีการจัดสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ด้วย และเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ตลอดจนเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง รวมถึงมีเด็กแห่เข้ามาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนชั้น ม.4 จำนวน 11,923 คน รับได้ 1,100 คน และรับประเภทโควตาจังหวัดไม่เกินร้อยละ 20 ดังนั้นเด็กที่พลาดหวังจากโรงเรียนดังไม่ต้องเสียใจ สพฐ.ยังมีที่นั่งเรียนโรงเรียนอื่นรองรับอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ อยากฝากไปถึงผู้ปกครองทุกคนว่า ไม่อยากให้ยึดติดกับชื่อเสียงของโรงเรียนดัง อยากให้เลือกโรงเรียนตามศักยภาพของบุตรหลานของตนเองมากกว่า”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้าน นางกัญญา เกิดโพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารวิชาการ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า โรงเรียนเตรียมอุดมฯมีเด็กมาสมัครสอบเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีที่ห้องสอบรองรับไม่เพียงพอ จึงต้องไปใช้พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสนามสอบด้วย ซึ่งโรงเรียนได้ขอความร่วมมือไปยังนิสิตจุฬาฯ และนิสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาช่วยเป็นเจ้าหน้าที่คุมสอบให้ เนื่องจากโรงเรียนมีบุคลากรไม่เพียงพอ สำหรับในส่วนของข้อสอบนั้นโรงเรียนได้วางระบบการออกข้อสอบ การพิมพ์ การจัดส่ง และการเก็บข้อสอบ ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างเข้มงวด