จากสถิติระบุว่า ผู้หญิงไทยยุคนี้เป็นมะเร็งเต้านมกันเยอะขึ้น เรียกว่าเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียก็ว่าได้ แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะหากรู้เร็วก็สามารถรักษาได้เร็ว และตอนนี้ มีนวัตกรรมเกิดขึ้นซึ่งสะดวกสบายในการตรวจพิสูจน์โดยไม่ต้องผ่าตัดให้เจ็บอีกต่อไป
แพทย์หญิงศรัญญา ภาภัทราดล รังสีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยา ให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมว่า ผู้หญิงเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเมโมแกรม อย่างน้อยปีละครั้ง แต่ถ้าในกรณีกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ญาติสายตรง อย่างแม่ พี่สาว น้องสาว มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ก็ควรที่จะมาตรวจก่อนหน้านั้น คือราวๆ อายุ 35 ปีขึ้นไป
“สถิติคนไทย มีการพบเจอมะเร็งเต้านมช่วง 30 กว่า ถึง 40 กว่า มากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ แต่เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของคนเป็นมะเร็งทั้งหมด ซึ่งจะแตกต่างจากทางฝั่งของอเมริกาหรือยุโรป ที่เขาจะเจอในช่วง 30 กว่า ถึง 40 กว่า ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เขามักจะแนะนำที่จำนวนอายุเยอะๆ ขึ้นไป แต่คนไทยจะเป็นเยอะกว่าในอายุช่วงนี้ เพราะคนไทยเรา เนื้อเต้านมเราหนาแน่น ก็แนะนำว่าอายุ 40 ควรมาตรวจทุกปี และถ้ามีความเสี่ยงก็มาตรวจก่อนหน้านั้น”
อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงศรัญญา แนะนำว่า ผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจเต้านมได้ด้วยตัวเองเป็นปกติ
“ประโยชน์ของการตรวจด้วยตัวเอง ก็คือ เราจะคุ้นเคยกับเนื้อเต้านมของตัวเอง คือเนื้อเต้านมของเรา ปกติ บริเวณนั้นนี้นิ่มๆ ไม่เคยมีก้อนอะไรเลย แต่ถ้ามีก้อนแข็งๆ ขึ้นมา หมอแนะนำว่า การตรวจด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าคลำทุกวัน คลำแค่เดือนละครั้งก็พอ ประมาณช่วงวันที่ 7 ถึงวันที่ 10 นับจากวันประจำเดือนมาวันแรก ถ้าช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือมีประจำเดือน เต้านมเราจะคัดขึ้น ยิ่งสาวๆ ยิ่งเหมือนแข็งไปหมดเลย เป็นก้อนไปหมดเลย แล้วก็จะกังวล ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับก้อนเนื้อที่จะนำไปสู่การเป็นมะเร็งเลย”
แพทย์หญิงแห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวว่า ก้อนเนื้อก็มีสองแบบ คือแบบที่เป็นซีสต์ ไม่ใช่มะเร็ง กับอีกแบบคือที่เป็นมะเร็ง ฝั่งที่ไม่ใช่มะเร็ง เจอเยอะกว่า ราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์ เราต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่ามันไม่ใช่มะเร็ง มันเป็นแค่เนื้องอกธรรมดา หรือบางทีก็อาจจะเป็นก้อนหินปูนเล็กๆ พวกนี้สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น เราควรตรวจพิสูจน์เพื่อรักษา ซึ่งตอนนี้มีเทคโนโลยีเจาะตัดชิ้นเนื้อมาพิสูจน์โดยไม่ต้องผ่าตัด
“ขั้นตอนการเจาะตัดชิ้นเนื้อเต้านมระบบดิจิตอล ก็คือรังสีแพทย์จะฉีดยาเฉพาะที่แล้วใช้เข็มพิเศษเจาะผ่านผิวหนังไปในบริเวณที่ผิดปกติ การตัดชิ้นเนื้อจะใช้ปืนตัดชิ้นเนื้อแบบอัตโนมัติ เมื่อได้ชิ้นเนื้อก็จะนำส่งทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา แต่ก่อนกระบวนการทั้งหมดนี้ จะต้องผ่านการตรวจเมโมแกรมก่อนเสมอเพื่อเป็นตัวบอกตำแหน่งและเพิ่มความแม่นยำ ข้อดีการเจาะตัดชิ้นเนื้อเต้านมระบบดิจิตอล คือเนื้อเยื่อจะได้รับการบาดเจ็บน้อย รวดเร็ว สะดวก และฟื้นตัวได้เร็ว ภายหลังการตรวจชิ้นเนื้อ”
แพทย์หญิงกล่าวทิ้งท้าย พร้อมให้กำลังใจผู้หญิงทุกคนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก หากคลำพบก้อนเนื้อที่หน้าอกของตัวเอง และยิ่งถ้าตรวจพิสูจน์ได้แล้ว การรักษาก็จะยิ่งง่ายยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo