มหา’ลัยมหาสารคม เตรียมบรรจุวิชาละครชุมชนในวิชาเรียน เพื่อให้นักศึกษา เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างนักพัฒนาสังคมคุณภาพได้
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผนงานสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) จัดโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนนำทักษะการเล่นละครไปเป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาในชุมชน ระยะที่ 4 ระหว่างเดือนธันวาคม 2555 -กุมภาพันธ์ 2556 นั้น พบว่า เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจก คือ ผู้ทำกิจกรรมเอง และในชุมชนซึ่งได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหาหลังรับฟังการสะท้อนผ่านละคร พร้อมกันนี้โครงการยังได้สร้างเครือข่ายนักละครในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศด้วย จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน ที่เคยเป็นแกนหลักถ่ายทอดทักษะการเล่นละครชุมชนให้แก่เยาวชน ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะสามารถเป็นแกนกลางทำกิจกรรม สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ ผลิตนักละครหน้าใหม่ ตลอดจนเข้าใจประเด็นปัญหาในชุมชนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการทำกิจกรรมละครชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้รสนิยมด้านละครของเยาวชนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ชื่นชอบละครเพื่อความบันเทิง สวยงามเพียงอย่างเดียวได้เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับประเด็นที่จะต้องสื่อสารด้วย โดยก่อนการแสดงจะมีการลงพื้นที่สำรวจ ประมวลข้อมูลความถูกต้องก่อนจะสื่อสารทุกครั้ง นอกจากนี้ มีมหาวิทยาลัยบางแห่งให้ความสำคัญ เช่น ม.มหาสารคาม ยังได้บรรจุวิชาละครชุมชนเป็นวิชาในหลักสูตร และกำลังเป็นทางเลือกใหม่ๆสำหรับนักศึกษาที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการเป็นนักพัฒนาและต้องการเพิ่มเครื่องมือสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายรูปแบบ
ด้าน นายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มมะขามป้อม กล่าวว่า กิจกรรมได้สร้างบุคลากรด้านงานละครเพื่อชุมชน โดยพัฒนาจากนักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรมมาเป็นพี่เลี้ยงและเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นที่ใช้ละครสื่อสารประเด็นที่เป็นปัญหา อาทิ กลุ่มมะนาวหวาน ที่ จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้ได้เดินสายร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนสื่อสารประเด็นโรงงานท่อก๊าซที่ภาคใต้ กลุ่มตะขบป่า จ.นครราชสีมา ซึ่งสนใจและถ่ายทอดการทำเกษตรทางเลือกและใช้สื่อละครเป็นตัวสื่อสารหนึ่ง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มครูในโรงเรียนที่ใช้ละครเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนการสอนด้วย