xs
xsm
sm
md
lg

ไฟแรง! เลขาฯ สพฉ.คนใหม่ ยึดหลัก 5 ค.พัฒนาแพทย์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร
เลขาฯ สพฉ.คนใหม่ไฟแรง เดินหน้างานการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งเป้าออกหน่วยแพทย์ให้ได้ 4 ล้านครั้งต่อปี ทำเวลาช่วยชีวิตให้ได้ใน 8 นาที สร้างมาตรฐานการส่งต่อ แบ่งโซนพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน ลดกู้ภัยแข่งขัน เล็งหารือศูนย์เอราวัณ รพ.รัฐ-เอกชน ท้องถิ่น สางปัญหา

วันนี้ (18 มี.ค.) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวระหว่างการแถลงนโยบาย “อนาคตการแพทย์ฉุกเฉินไทย กับการก้าวเดินบนมาตรฐาน” ภายหลังได้รับเลือกจากคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ สพฉ.คนที่ 2 แทน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2555 ว่า ปัจจุบันสถิติการออกปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีกว่า 2 ล้านครั้งต่อปี โดยมีอาสาสมัครกู้ภัยกว่าแสนคน และมีรถพยาบาลฉุกเฉินประมาณ 15,000 คัน ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าที่จะออกหน่วยแพทย์ให้ได้ 4 ล้านครั้งต่อปีภายใน 4 ปี เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที โดยยังคงรักษามาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะเน้นองค์ประกอบในการส่งต่อ เช่น ต้องมีระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงระหว่าง รพ.อย่างรวดเร็ว สามารถส่งต่อได้ทันท่วงที และต้องมีเตียงว่างพร้อมในการรองรับ

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับหลักการทำงานจะเน้น 5 ค.คือ 1.ครอบคลุม การบริการผู้ป่วยต้องวิกฤตจริงๆ เช่น ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บ หรือเป็นโรคประจำตัวร้ายแรง อย่างโรคหัวใจ ภาวะติดเชื้อในแม่และเด็ก 2.คล่องแคล่ว เพิ่มจำนวนหน่วยกู้ชีพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สามารถไปถึงผู้รับบริการอย่างปลอดภัยภายใน 8 นาที จากเดิม 10 นาที 3.คุณภาพ มีการประเมินการทำงานตนเองให้ได้มาตรฐานแท้จริง 4.คุ้มครอง ป้องกันผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินและสังคมรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉิน และ 5.ครบ 24 ชั่วโมง เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินต้องพร้อมทำงานตลอด

“มาตรฐานเหล่านี้จะมีโทษหากอาสาสมัครกู้ชีพไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งหากพบว่ามีการทำความผิดใดๆ เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน จะมีโทษตามหมวด 5 พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งความผิดแล้วแต่กรณีตั้งแต่ 5,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อร้องเรียนอาสาสมัครกู้ภัยแข่งขันการรับและส่งต่อผู้ป่วย จนเกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งหลายคนมองว่ามาจากกรณีโรงพยาบาลเอกชนให้เงินพิเศษเพิ่มขึ้น นพ.อนุชา กล่าวว่า ได้ส่งเรื่องไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนให้ตรวจสอบแล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยและเป็นธรรมในภาพรวม จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ สพฉ.จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สถานพยาบาลสังกัด สธ.ภาคเอกชน และส่วนภูมิภาค หารือถึงการวางมาตรฐานดังกล่าว พร้อมทั้งการแบ่งโซนพื้นที่ให้ชัดเจนในการส่งต่อ เพื่อให้ทำงานง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรก กลางปี 2556 จะระดมหน่วยงานเหล่านี้มาวางมาตรฐานร่วมกัน ระยะสองปลายปี 2556 ประเมินว่า แต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานที่วางได้หรือไม่ และระยะสาม ต้นปี 2557 หากสามารถดำเนินการตามมาตรฐาน อาจนำไปสู่การออกเป็นกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น