ติดท็อปไฟว์ ไทยพุ่งอันดับ 3 ของโลกตายจากอุบัติเหตุ ชี้ความปลอดภัยต่ำ เผยผลสำรวจพบว่า อัตราการสวมหมวกกันน็อกลดลง อึ้ง! ตายจากแวนซ์ถึง 80% เสนอ รบ.บังคับใช้ กม.อย่างจริงจัง มีการขายหมวกทุกขนาด
วันนี้ (15 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายศิลปชัย จารุเกษมรัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงานแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยปี 2555 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 1 แสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดยร้อยละ 70-80 เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล แม้ว่าจะมีการรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มรถจักรยานยนต์ คือการไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้บาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ส่งผลให้พิการ และเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งที่การสวมหมวกนิรภัยเป็นกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตั้งแต่ปี 2539 และมีการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า จากสถิติพบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลก ร้อยละ 23 เกิดจากรถจักรยานยนต์ และระดับอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15-44 ปี สำหรับประเทศไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีอัตราการตายจำนวน 26,000 คนต่อปี คิดเป็น 38 รายต่อแสนประชากร ซึ่งถือเป็นอันดับ 6 ของโลกที่มีความปลอดภัยทางถนนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม แต่ครั้งนั้นเป็นข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ต้องมีการวิเคราะห์อีกรอบ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ได้รวบรวมข้อมูลใหม่จนพบว่า แต่ละประเทศมีการจัดการปัญหาอุบัติเหตุดีขึ้น เว้นประเทศไทยกลับยังเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แม้อัตราการเสียชีวิตจะคงเดิม โดยอันดับ 2 เป็นของสาธารณรัฐโดมินิกัน อยู่แถบละตินอเมริกา มีพื้นที่เป็นเกาะ มีอัตราผู้เสียชีวิต 41.7 ต่อแสนประชากร ส่วนอันดับ 1 เป็นประเทศนิว (Nieu) เป็นเกาะในเอเชียใต้ มีอัตราเสียชีวิต 1คน เพราะมีประชากรเพียง 1,000 คน
นพ.วิทยา กล่าวอีกว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 26,000 ราย พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 43 ในจำนวนนี้เป็นผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 52 ผู้โดยสารสวมหมวก ร้อยละ 20 เท่านั้น โดยกลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 49 วัยรุ่นสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28 และเด็กร้อยละ 7 เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่ามีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงมาก โดยประเทศไทยได้คะแนน 6 เต็ม 10 คะแนนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม ได้ 9 คะแนน อินโดนีเซีย ลาว ได้ 8 คะแนน
“การสวมหมวกนิรภัยเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการลดปริมาณผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยปริมาณผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้น เมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อถือว่ามากกว่าหลายเท่าด้วยกัน ซึ่งสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของไทยจัดว่าอยู่ในขั้นรุนแรงสอดคล้องกับความกังวลขององค์การอนามัยโลกที่มีต่อปัญหานี้ เนื่องจากคนในประเทศกำลังพัฒนาใช้รถจักรยานยนต์เป็นรถครอบครัว จึงอยากให้รัฐบาลประกาศใช้นโยบายหมวกกันน็อก 100% อย่างจริงจัง มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง เปิดขายหมวกทุกขนาด ส่งเสริมเรื่องการทำข้อมูลเรื่องการใช้หมวกกันน็อกอย่างเข้มข้นให้เทียบเท่าการปราบปรามยาเสพติด และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล” นพ.วิทยา กล่าว
นายดนัย เรืองสอน ประธานมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ได้สำรวจสถานการณ์การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,200 แห่ง ใน 77 จังหวัด พบว่า ไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1.5 ล้านคน โดยจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ร้อยละ 80 รองลงมา คือ จ.ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ จ.บึงกาฬ ลำพูน ชัยภูมิ นราธิวาส และนครพนม มีการสวมหมวกนิรภัยไม่ถึง ร้อยละ 20 เมื่อดูสถิตย้อนหลังพบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัย ปี 53 อยู่ที่ ร้อยละ 44 ปี 54 อยู่ที่ ร้อยละ 46 และลดลงในปี 55 เหลือร้อยละ 43 แม้ว่าจะมีนโยบายการณรงค์อย่างต่อเนื่องก็ตาม
“การสำรวจในเขตเมือง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่เทศบาลนคร หรือเทศบาลเมืองในอำเภอเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด พบว่า มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 74 ในขณะที่บริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลในพื้นที่ชุมชนชนบทที่มีประชาชนน้อยกว่า มีการสวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 28 เท่านั้น ชี้ให้เห็นความแตกต่างของการสวมหมวกนิรภัยในเขตเมืองและเขตชุมชนชนบท” นายดนัย กล่าว