xs
xsm
sm
md
lg

รามาฯเจ๋ง! พบยีนเสี่ยงดื้อยาต้านเอดส์ครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.รามาฯเจ๋ง! พบยีนเสี่ยงดื้อยาต้านเอดส์ “เอฟาวิเรนซ์” ครั้งแรกของโลก เผยเพราะระดับยาในเลือดต่ำเกินไป เร่งขอจดสิทธิบัตรแล้ว แนะ อภ.ผลิตยา 100-200 มก.หนุนกรณีต้องปรับขนาดยา ไม่ใช่ใช้การแบ่งครึ่งยาเพื่อให้เต็มขนาด พร้อมจี้ สปสช.ให้สิทธิรักษาครอบคลุมการตรวจยีนและระดับยา หวั่นกระทบระบบสาธารณสุขภายหลัง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.ภก.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ และหัวหน้าสาขาวิชาเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์เฉพาะบุคคล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยผลการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน CYP2B6 ร่วมกับการวิเคราะห์ระดับยาเอฟาวิเรนซ์ในผู้ป่วยเอชไอวี ว่า ผู้ป่วยในรายที่มีระดับยาเอฟาวิเรนซ์ในกระแสเลือดสูงกว่าระดับของการรักษา จะมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อระบบประสาท เนื่องจากร่างกายขับยาออกได้น้อย ส่วนผู้ป่วยที่มีระดับยาดังกล่าวต่ำ จะส่งผลต่อประสิทธิผลของการรักษาคือ ไม่สามารถไปกดเชื้อไวรัสเอชไอวีในผู้ป่วยได้ และจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของเชื้อเอชไอวีทำให้เกิดการดื้อยาในอนาคต ที่สำคัญหากผู้ป่วยมีโอกาสส่งผ่านเชื้อที่มียีนดื้อยาไปกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะทำให้ผู้ป่วยรายใหม่นั้นไม่สามารถใช้ยาสูตรพื้นฐานต่อไปได้ ต้องเปลี่ยนเป็นยาสูตรอื่นที่ราคาแพงขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองต่อการรักษา และอาจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศได้

การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก ซึ่งผมได้ยื่นตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการขอจดสิทธิบัตร โดยที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงไทยได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนดังกล่าว ร่วมกับการวิเคราะห์ยาต้านไวรัสเอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ พบการเกิดพิษต่อระบบประสาทในผู้ป่วยที่มีระดับยาในกระแสเลือดสูงกว่าระดับของการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า ฝันหลอน นอนไม่หลับ เซื่องซึม ทำงานไม่ได้ รุนแรงที่สุดอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล” ผศ.ภก.ชลภัทร กล่าว

ผศ.ภก.ชลภัทร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าระดับยาต้านไวรัสเอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ในกระแสเลือดของผู้ป่วยจะต่ำหรือสูง ล้วนแต่ส่งผลต่อผู้ป่วยทั้งสิ้น ดังนั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ควรผลิตยามาสนับสนุนให้เหมาะสม เช่น การผลิตยาขนาด 100-200 มิลลิกรัม ในกรณีที่ต้องปรับขนาดยาจาก 600 มิลลิกรัม เป็น 400 หรือ 800 มิลลิกรัม เพื่อให้สามารถปรับขนาดยาจากลักษณะยีนของผู้ป่วยได้ แต่ไม่ใช่นำเม็ดยามาแบ่งครึ่งเพื่อให้เต็มขนาด เพราะอาจจะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดสูงไปจนส่งผลข้างเคียงได้ นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรจะให้สิทธิการรักษาครอบคลุมการตรวจยีน CYP2B6 และการตรวจวัดระดับยาในกระแสเลือดด้วย เพื่อติดตามการรักษาของผู้ป่วยให้ได้ระดับยาที่เหมาะสม เพราะหากผู้ป่วยดื้อยาและต้องปรับเปลี่ยนสูตรยาที่ราคาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้างทางการสาธารณสุขของประเทศต่อไป

สำหรับคณะผู้วิจัยในโครงการดังกล่าว ได้ค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สตาร์วูดีน และ เนวิราปิน เป็นครั้งแรกของโลกมาแล้ว ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS)
กำลังโหลดความคิดเห็น