xs
xsm
sm
md
lg

พบมะเร็งผิวหนังไฝดำ 300-400 คนต่อปี แพทย์แนะเลี่ยงแสงแดด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พบคนไทยเป็นมะเร็งผิวหนังไฝดำ 300-400 คนต่อปี เหตุถูกแสงจ้าเป็นเวลานาน แพทย์ชี้คนผิวเหลืองผิวดำเสี่ยงน้อยกว่าคนผิวขาว แนะหลีกเลี่ยงแสงแดด

วันนี้ (22 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่โรงแรมคราวน์ พลาซ่า กทม. นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำหรือเมลาโนมาอยู่ประมาณ 160,000 รายต่อปี ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยทั้งหมดเป็นชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งพบมากถึงประมาณ 30 คนต่อแสนประชากร สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 22 ของเอเชียที่มีโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำ คือพบประมาณครึ่งคนต่อแสนประชากร หรือประมาณ 300-400 คนต่อปี โดยสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นขึ้นอยู่กับเชื้อชาติเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าฝรั่งหรือคนผิวขาวจะเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำมากกว่าคนผิวเหลืองหรือผิวดำ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการถูกแสงแดด ซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลานานด้วย

นพ.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า มะเร็งผิวหนังมี 3 ชนิด ได้แก่ 1.ชนิดบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ซึ่งไม่รุนแรงเพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ 2.ชนิดสเควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา มักเกิดบริเวณผิวหนังชั้นกลาง และ 3.ชนิดแมลิกแนนท์ เมลาโนมา หรือชนิดไฝดำ เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เมลาโนไซต์ ซึ่งเป็นเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง ถือว่าเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่สุด เพราะสามารถกระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งลักษณะของมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นจะแตกต่างจากไฝปกติ สามารถสังเกตได้จากสัญญาณอันตรายดังนี้ 1.มีขอบไม่ชัดเจน (asymmetrical) 2.ไฝไม่มีความสมมาตร (Borders uneven) 3.มีสีดำ น้ำตาล หรือแดงปนๆกัน (Color variation) 4.มีขนาดใหญ่เกินกว่า 6 มิลลิเมตร (Diameter) และ 5.ไฝมีการแตกตัวจาก 1 เม็ด เป็น 2 เม็ด (Evolving)

“ลักษณะมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นจะกินลึกในชั้นผิวหนังมากกว่าโตเป็นก้อนออกมา ยิ่งเป็นมากก็จะยิ่งกินลึกลงไปในผิวหนังมาก จนอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้มะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำจะพบมากบริเวณที่ถูกแสงแดดบ่อยๆ แต่ก็สามารถเกิดได้ในจุดซ่อนเร้น อาทิ ฝ่าเท้า หรือไหล่ ทั้งนี้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน โดยใส่เสื้อแขนยาว หรือกางร่มช่วย รวมไปถึงอาจใช้สิ่งปกป้องผิวหนังเมื่อต้องโดนแดดเป็นเวลานาน เช่น ครีมกันแดด นอกจากนี้ ถ้าเคยมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำควรสังเกตลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของไฝบนร่างกายด้วย” นพ.วิโรจน์ กล่าว

นพ.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำจะไม่รู้สึกเจ็บที่บริเวณรอยโรค นอกจากมะเร็งจะลุกลามไปถูกเส้นประสาทหรืออวัยวะอื่น ถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง ซึ่งวิธีการรักษานั้นการผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดถ้ามะเร็งยังไม่กระจายไปยังบริเวณอื่น โดยจะมีการให้ยารักษาช่วยเสริมภายหลังการผ่าตัด หรือเมื่อมีโรคกลับมาเป็นซ้ำ หากผู้ป่วยเป็นในระยะลุกลามจะใช้รังสีรักษาหรือเคมีบำบัดร่วม ซึ่งปัจจุบันการรักษายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร เพราะมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติและผู้ป่วยบางรายไม่มีการตอบสนองที่ดี แต่แนวโน้มของการรักษาจะเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นคือ การตรวจคัดเลือกผู้ป่วยและใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นโดยเฉพาะ โดยยาที่ได้รับจะสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งได้อย่างเจาะจง แต่จะเป็นกรณีที่เกิดจากยีน BRAF กลายพันธุ์ เท่านั้น ซึ่งก่อนการรักษาจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจก่อนว่า เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำที่เกิดจากความผิดปกติของยีน BRAF หรือไม่ ซึ่งจะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยและโรคตอบสนองต่อยาได้ดีขึ้น

ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จุฬาลงกรณ์ยีนส์โปร กล่าวว่า ยีน BRAF จะเป็นยีนที่กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ เจริญเติบโต แต่กว่าร้อยละ 50 ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นพบว่า เกิดจากความผิดปกติของยีน BRAF ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในการรักษาตามแนวทางเฉพาะบุคคลนั้นจำเป็นที่จะต้องตรวจว่า มะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำเกิดจากความผิดปกติของยีน BRAF หรือไม่ และดูการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ซึ่งการตรวจดังกล่าวจะมีความแม่นยำสูงและให้ผลตรวจที่รวดเร็ว ซึ่งการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนบีราฟจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดี้ เพราะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น