xs
xsm
sm
md
lg

ทารกคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงจอประสาทตาเจริญผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์เผยทารกคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยเฉพาะโรคจอประสาทตาเจริญผิดปกติ ย้ำรักษาทันมีโอกาสหายได้ ด้านเครือข่ายสุขภาพฯมารดาเตรียมจัดรถตรวจเคลื่อนที่ถ่ายภาพจอตาให้จักษุแพทย์ในเมืองวินิจฉัย ลดปัญหาคนไข้เดินทางไกลมารักษา เริ่ม 20 พ.ค.นี้

ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม “การดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีจอตาเจริญเติบโตผิดปกติ” ว่า จากสถิติของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบว่า มีจำนวนทารกที่มีปัญหาจอตาเจริญผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 พบ 137 ราย และต้องได้รับการรักษาทันที 28 ราย และปี 2555 พบ 168 ราย ในจำนวนนี้รวมผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว นอกจากนี้ ยังมีทารกคลอดก่อนกำหนด ปี 2554 จำนวน 116 ราย และปี 2555 จำนวน 150 ราย ทั้งนี้ ปัญหาจอตาเจริญผิดปกติจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เพราะจะส่งผลให้ทารกตาบอดได้ โดยจะมีการประสานความร่วมมือกันในเครือข่ายพื้นที่ภาคอีสาน 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม โดยมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายภายใต้การสนับสนุนเพื่อเป็นโครงการนำล่องเพื่อขยายไปยังภูมิภาคอื่นต่อไป
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้าน รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต ประธานเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า การที่ทารกคลอดก่อนกำหนดส่งผลเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากอวัยวะส่วนต่างๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเสี่ยงต่อความพิการหากไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคจอประสาทตาเจริญผิดปกติซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ปัจจุบันนั้นมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องจอประสาทตาของทารกแรกเกิดไม่มากนักและส่วนใหญ่จะอยู่ตามโรงพยาบาลในตัวเมืองส่งผลให้บิดามารดาไม่สามารถนำบุตรมารักษาได้ตามกำหนดที่หมอนัด เพราะฉะนั้นทางเครือข่ายจึงได้มีวิธีการบูรณาการทำงานโดยจะใช้ Mobile Unit หรือรถตรวจเคลื่อนที่ออกไปตรวจรักษาและส่งภาพถ่ายจอตามาให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย โดยที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางมารักษาที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการแชร์อุปกรณ์ดูแลรักษาระหว่างโรงพยาบาลในเครือข่าย เช่น เครื่องยิงเลเซอร์ โดยรถเคลื่อนที่นี้จะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 20 พ.ค.นี้

พญ.พรรณทิพา ว่องไว จักษุแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หากมีการตรวจพบความผิดปกติในทารกในระยะเริ่มแรกนั้นสามารถทำการรักษาได้ โดยระยะของโรคจะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือระยะที่ 1-2 เป็นระยะเฝ้าดูอาการระยะที่ 3 เป็นระยะที่ต้องทำการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ระยะที่ 4 รักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนระยะที่ 5 เป็นระยะที่จะส่งผลให้เด็กตาบอดหรือหากรักษาได้ก็ไม่เป็นปกติ ซึ่งโรคนี้ หากตรวจพบในระยะ 3-4 ก็ต้องเร่งรักษาภายใน 48 ชั่วโมง เนื่องจากหากรักษาช้ากว่านี้ก็จะส่งผลให้เด็กตาบอด

มีผู้ปกครองท่านหนึ่งเป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์พาบุตรที่มีปัญหาเรื่องจอประสาทตาผิดปกติมารักษาที่โรงพยาบาลแต่ผู้ปกครองท่านนี้ไม่มาตามกำหนดและหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะไม่มีค่าเดินทางเนื่องจากคนรับจำนำนาไม่อยู่ ดังนั้นจึงส่งผลให้บุตรตาบอด” พญ.พรรณทิพา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น