xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราช ร่วมเยอรมัน สอนกายอุปกรณ์นานาชาติผ่านทางไกลผสมผสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ร.กายอุปกรณ์สิรินธร เปิดหลักสูตรใหม่ จับมือเอ็นจีโอจากเยอรมัน สอนกายอุปกรณ์นานาชาติผ่านทางไกล หวังช่วยช่างกายอุปกรณ์ต่างชาติเข้าถึงการศึกษามากขึ้นโดยไม่ต้องลาออกจากงาน หลังพบสถิติต่างชาติเข้ามาเรียนในไทยถึง 30 คน เหตุ ISPO ยกเป็นโรงเรียนได้มาตรฐานการสอนอันดับสูงสุด

วันนี้ (13 ก.พ.) เมื่อเวลา 15.00 น.ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือ (MOU) เปิดหลักสูตรกายอุปกรณศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติแบบเรียนทางไกลผสมผสาน) ร่วมกับ Mr.Christian Schlierf ผู้อำนวยการ Human Study e.V.สหพันธรัฐเยอรมนี ว่า โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรได้พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับจากองค์กรวิชาชีพกายอุปกรณ์สากล (ISPO : International Society of Prosthetics and Orthtotics) ให้เป็นโรงเรียนระดับ ISPO category 1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิต ทั้งหลักสูตรปกติ และหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษามากถึง 30 คน ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือกับ Human Study e.V.ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อมนุษยธรรม และมีความชำนาญในเทคโนโลยีการศึกษาแบบทางไกล จึงเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรด้านกายอุปกรณ์ในระดับอนุปริญญาจากทั่วโลกได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยอาศัยการเรียนการสอนผ่านทางไกล ไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อเดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทย นับเป็นศักราชใหม่ของการศึกษาผ่านทางไกล และเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ของประเทศต่างๆ รวมไปถึงทำให้หลักสูตรกายอุปกรณ์ของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับ พัฒนาการรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้พิการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ด้าน รศ.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร กล่าวว่า โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เป็น 1 ใน 15 โรงเรียนทั่วโลกที่ได้รับการยอมรับจาก ISPO โดยปัจจุบันได้เปิดการเรียนการสอน 3 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตร 4 ปี แบ่งเป็นหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ สำหรับนักเรียนที่จบชั้น ม.6 2.หลักสูตรปกติ 3 ปี สำหรับช่างกายอุปกรณ์ไทยที่จบระดับอนุปริญญา และ 3.หลักสูตรนานาชาติ 2 ปี สำหรับช่างกายอุปกรณ์ที่จบระดับอนุปริญญาจากต่างประเทศ โดยแต่ละปีจะผลิตบุคลากรเป็นนักกายอุปกรณ์ได้เพียงหลักสูตรละประมาณ 20-24 คน เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน เนื่องจากเดิมเป็นเพียงหลักสูตรอนุปริญญา ทำให้ไม่มีผู้สนใจอยากเรียน เพราะไม่มีความก้าวหน้าเหมือนระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรจะเร่งพัฒนาบุคลากรด้านกายอุปกรณ์ให้เพิ่มมากขึ้น

รศ.พญ.นิศารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติแบบเรียนทางไกลผสมผสาน) ถือเป็นการเปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ช่างกายอุปกรณ์จากต่างประเทศได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับปริญญาตรี โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศไทย แต่จะใช้การสอนผ่านดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ แบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนจะเตรียมบทเรียนไว้ในเว็บเบส (Web Base) โดยให้ผู้เรียนจัดสรรเวลาเข้ามาศึกษาเอง ซึ่งก่อนเข้ามาเรียนจะต้องใส่ยูเซอร์เนมและพาสเวิร์ดก่อน เพื่อตรวจสอบว่ามีการเข้ามาศึกษาจริง และมีการทำแบบทดสอบต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแต่ละสัปดาห์ สำหรับการประเมินนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาแต่ละบทเรียน อย่างบางบทเรียนต้องทำแบบทดสอบให้เกิน 80% จึงจะผ่าน บางบทเรียนต้องให้ได้ 100% เป็นต้น หากทำข้อสอบไม่ผ่านก็จะไม่สามารถไปสู่บทเรียนต่อไปได้

“หากเป็นไปได้เราจะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรดังกล่าวครั้งแรก ในปีการศึกษาที่ 1/2556 โดยจะเปิดรับผู้เรียนประมาณ 20 คน ที่ผ่านการเรียนระดับอนุปริญญาและมีความสนใจศึกษาต่อ จากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และแอฟริกา โดยจะมีการจัดทดสอบความรู้ก่อนเข้าเรียนตามมาตรฐาน สกอ.ด้วย เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้เป็นนักกายอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสูงสุด สามารถเป็นอาจารย์และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ซับซ้อนได้” ผอ.ร.ร.กายอุปกรณ์สิรินธร กล่าว

สำหรับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี 2545 เพื่อผลิตนักกายอุปกรณ์ทดแทนช่างกายอุปกรณ์ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาและกำลังประสบปัญหาภาวะขาดแคลน ทั้งนี้ “กายอุปกรณ์” คือการทำอุปกรณ์เสริมหรืออุปกรณ์เทียมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความพิการหรือบกพร่องทางร่างกาย ได้มีชีวิตประจำวันที่เหมือนคนปกติ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ผู้ป่วยขาขาด ก็จะผลิตขาเทียมให้ผู้ป่วย หรือกล้ามเนื้ออ่นแรงก็จะผลิตอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น