อัสสัมชัญจัดงาน White Wednesday “Walk Together” ล้างภาพสีดำไปสู่สีขาว ระดมศิษย์เก่าแสดงพลังรักสถาบัน ด้านนายก ส.อัสสัมชัญ-ศิษย์เก่า ฝาก “สุรสิทธิ์” ดูแลการรับนักเรียน ไม่ใช่รับแต่ลูกคนรวย ขณะที่ ผอ.โรงเรียน ยันปรับเงินเดือนครูแน่ แต่ขอเวลาศึกษาข้อมูลสถานภาพการเงินก่อน ย้ำ ผู้บริหารชุดเก่ายังทำงานปกติ ไม่ห่วงอำนาจเก่าอดีต ผอ.มั่นใจภายใต้การบริหาไม่มีประท้วงแน่นอน
วันนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 07.00 น.ที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ในงาน White Wednesday “Walk Together” พี่น้องอัสสัมชัญ เราจะก้าวไปด้วยกัน ซึ่งจัดโดย ร.ร.อัสสัมชัญแผนกประถม ร่วมกับศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ได้มีกลุ่มศิษย์เก่า พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูอัสสัมชัญแผนกประถม ร่วมตักบาตรในช่วงเช้า ขณะที่กิจกรรมบนเวทีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 08.30 น.โดยมีการเชิญศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมาร่วมแสดงความรู้สึกที่มีต่อโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แก่ นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายกสมาคมอัสสัมชัญ พล.อ.อ.กัณฑ์ พิมานทิพย์ อัสสัมชนิกอาวุโส อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ นายกริช ทอมมัส กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจเพลงจีเอ็มเอ็ม และ นายธนารักษ์ หลายรัตน์ ครูอาวุโส อดีตครูใหญ่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษายังได้มาประชุมเชียร์ ร้องเพลงประจำโรงเรียนให้กำลังใจ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ความเป็นหนึ่งเดียว และแสดงความรักสามัคคีให้แก่น้องๆ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาร่วมงานด้วย อาทิ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีต รมช.อุตสาหกรรม เป็นต้น
นายวัลลภ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษย์เก่าอย่างมาก เพราะอัสสัมชัญมีอายุมากว่า 120 ปี ที่ผ่านมาได้แต่สร้างชื่อเสียง ทำแต่ความดี ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อัสสัมชัญมีจุดเด่น คือ นักเรียนทุกคนที่เรียนอัสสัมชัญจบไปแล้วล้วนเป็นคนเก่ง คนดีของสังคม และมีจุดแข็งในเรื่องของความรักสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียว จะไม่ยอมให้ใครมาทำลายเรา ซึ่งตอนนี้แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะได้คลี่คลาย ศิษย์เก่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในงานบริหารของใคร แต่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟู กำกับ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบนี้ และจะมองไปข้างหน้า จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจมาสู่ครู นักเรียนที่อยู่ในปัจจุบัน ให้นักเรียนกลับมาตั้งใจเรียน ครูกลับมาตั้งใจสอน ทำหน้าที่ของตัวเอง ให้อัสสัมชัญยังคงเป็นอัสสัมชัญที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้
“อัสสัมชัญในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะช่วง 9 ปี ของการบริหารงานโดย ภราดา อานันท์ ปรีชาวุฒิ อดีตผู้บริหารซึ่งขณะนี้ถูกปลดไปแล้ว เขาได้สร้างปัญหาไว้เยอะมาก ซึ่งผมไม่อยากจะพูดถึง แต่ก็ขอชื่นชมว่า เขาเป็นคนเก่งอย่างที่หาไม่ได้ เขาเก่งที่ทำให้ทุกฝ่ายเกลียดเขาหมด” นายวัลลภ กล่าวและว่า สำหรับภาพลักษณ์ของ ร.ร.อัสสัมชัญ ในตอนนี้ ตนขอย้ำว่า ยังคงเป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียน ไม่ใช่รับเฉพาะเด็กรวย และยังคงมีการเข้าสอบ อยากฝากพ่อแม่ผู้ปกครอง อย่าไปคิดว่าอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนลูกคนรวย แต่ขอให้มองถึงคุณภาพการเรียนการสอนตลอด 120 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะถ้าเราไม่มีคุณภาพจริงก็คงไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนอยากส่งลูกหลานเข้าเรียน
พล.อ.อ.กันต์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในโรงเรียนในช่วงที่ผ่าน วันนี้ถือเป็นวันดีที่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้ร่วมกันสร้างความเป็นหนึ่งเดียว และยืดหยัดที่จะร่วมกันปกป้องโรงเรียน จะไม่ยอมให้ใครมาทำลายชื่อเสียงของอัสสัมชัญอีกต่อไป
ด้าน ศ.ดร.เกื้อ กล่าวว่า ภายหลังที่ภราดา สุรสิทธิ์ สุขชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ารับตำแหน่ง ตนได้เข้าพบ เพื่อทำความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าผู้ปกครองทุกคนพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนพัฒนาโรงเรียนและครูตลอดไป โดยเฉพาะครู ตนได้ฝากให้ช่วยดูแลเรื่องเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังให้ครูได้ทำงาน ดูแลลูกศิษย์อย่างมีความสุข
ภราดา สุรสิทธิ์ กล่าวว่า มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นผู้แทนผู้รับใบอนุญาต และเป็น ผอ.ร.ร.อัสสัมชัญ และ ร.ร.อัสสัมชัญแผนกประถม ซึ่งมีผลตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครองแผนกประถม ตนได้แต่งตั้งให้ ภราดา ศักดา สกนธวัฒน์ เป็น ผอ.ร.ร.แผนกประถม มีอำนาจหน้าที่ในการเซ็นเอกสารต่างๆ กรณีมีผู้ปกครองติดต่อเพื่อขอเอกสารจากทางโรงเรียน ทั้งนี้ ภายหลังมารับหน้าที่ได้มีการพูดคุยกับครูทั้งประถมและมัธยม ซึ่งต่างเข้าใจกันดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูนั้น ขณะนี้ตนได้มอบให้รอง ผอ.โรงเรียนไปตรวจสอบสถานภาพการเงินในภาพรวมก่อน จึงต้องใช้เวลาในการดูข้อมูล แต่ยืนยันโรงเรียนจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวแน่นอน เพราะเราต้องยึดตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่วนการบริหารงานต่อจากนี้นั้น ภาพรวมยึดการบริหารตามนโยบายที่สอดคล้องกับมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กำหนดไว้แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่เพียงเท่านี้ แต่ ร.ร.อัสสัมชัญ จะต้องพร้อมและก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก
ภราดา สุรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็จะนำมาเป็นบทเรียน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการปิดเรียนนั้น ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของ สช.ตนไม่มีส่วนยุ่งเกี่ยว แต่ในส่วนปัญหา ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ที่ตนจะต้องเข้ามาแก้ไขให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ ภราดา อานันท์ ปรีชาวุฒิ อดีต ผอ.ร.ร.อัสสัมชัญ ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับใดๆ กับการบริหารงานของโรงเรียนแต่ทางมูลนิธิมีคำสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่และดึงตัวไปช่วยงาน อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องอำนาจเก่าของอดีตผู้บริหารนั้น คาดว่า ไม่มีน่าจะมี เพราะทุกคนรู้จักตนดีว่าเป็นคนตรง และทำงานโปร่งใส ส่วนปัญหาการควบรวมโรงเรียนนั้น แม้ในทางกฎหมายจะสามารถดำเนินการได้ แต่ขณะนี้ สช.ให้ชะลอไว้ก่อน แต่เรื่องดังกล่าวมีขั้นตอนมากและต้องสอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่ายด้วย ต้องมีเหตุและผลในการดำเนินการ ซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของครูและนักเรียน
“การมารับตำแหน่งก็หนักใจอยู่บ้างแต่เมื่อทุกคนให้ความไว้วางใจผมก็เบาใจไปเปลาะหนึ่ง และเท่าที่คุยกับครูทั้งประถมและมัธยมก็ได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนภาพลักษณ์ของ ร.ร.อัสสัมชัญ เชื่อว่า กิจกรรมในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครูและนักเรียน ซึ่งต่อไปโรงเรียนจะพูดน้อยลงแต่จะเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของลูกแดงขาวอัสสัมชัญ เชื่อว่า จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครองได้” ผอ.ร.ร.อัสสัมชัญ กล่าวและว่า สำหรับคณะบริหารก็ยังรักษาการตามปกติ เพราะการบริหารจัดการเปลี่ยนม้ากลางศึก หรือเปลี่ยนในช่วงท้ายปีการศึกษาไม่ดีแน่นอน และเชื่อว่า ภายใต้การบริหารของตนน่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงเช่นที่ผ่านมาอีก
นายศุภโชค โฆษวงศ์ ผู้แทนศิษย์เก่าในฐานะประธานกลุ่มกู้อัสสัมชัญ กล่าวว่า กลุ่มกู้อัสสัมชัญเป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันนี้ขึ้น เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่โรงเรียน เพื่อต้องการล้างภาพจากสีดำไปสู่สีขาวเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ได้เข้ามามีส่วนร่วม รับทราบถึงปัญหาที่คลี่คลายแล้ว และร่วมกันสร้างชื่อเสียงในทางที่ดีต่อไป ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มนั้น ขณะนี้กำลังติดตามข้อเรียกร้องที่เหลือ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งชุดเก่าสมัยภราดา อานันท์ อดีต ผอ.โรงเรียนลาออกไปทั้งคณะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มจะเสนอให้แต่งตั้งตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ตัวแทนสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบที่โปร่งใสมากขึ้น
“นอกจากข้อร้องเรียนที่เคยเสนอไป อยากฝากให้ภราดา สุรสิทธิ์ ให้ช่วยปรับเรื่องการรับนักเรียน เพราะตอนนี้การรับนักเรียนของ ร.ร.อัสสัมชัญ แตกต่างไปจากอดีต ตั้งแต่อดีตผู้อำนวยการคนเก่าการรับนักเรียนจะเน้นรับจากค่าบำรุง ใครจ่ายค่าบำรุงมากก็ได้เรียน ไม่ใช่วัดจากความรู้ความสามารถของเด็กอย่างสมัยผม ทำให้สภาพแวดล้อม สังคมใน ร.ร.อัสสัมชัญ ปัจจุบันไม่มีความหลากหลาย แถมยังปิดกั้นลูกหลานของศิษย์เก่าเพราะไม่มีค่าบำรุงที่มากพอ จึงอยากให้นำการรับนักเรียนแบบเก่ากลับมา เน้นการสอบวัดความรู้ ความสามารถของเด็ก เปิดโอกาสอย่างทั่วถึง ไม่ใช่สอบเพื่อเป็นพิธีและวัดกันที่เงิน” นายศุภโชค กล่าว