xs
xsm
sm
md
lg

กินอย่างไร ห่างไกลโรคนิ่ว? / คอลัมน์...Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ว่าโรคนิ่วจะสามารถรักษาได้ แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เป็น แล้วทำอย่างไร ถึงจะห่างไกลจากโรคนี้?

นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ราชวิถี ให้ความรู้ว่า โรคนิ่วนั้นแบ่งออกเป็นสองชนิดหลักก็คือ นิวที่มีแคลเซียมกับนิ่วที่ไม่มีแคลเซียม

นิ่วที่มีแคลเซียม นิ่วประเภทนี้จะเหมือนกระดูก เอกซเรย์แล้วเห็นง่าย ยิ่งเห็นสีเข้ม แสดงว่า นิ่วแข็งมาก การรักษาก็ลำบาก ส่วนนิ่วที่ไม่มีแคลเซียม นิ่วแบบนี้เอกซเรย์ธรรมดาจะไม่เห็น ต้องทำวิธีพิเศษ เช่น ซีทีสแกน หรือ อัลตราซาวนด์ แต่อัลตราซาวนด์จะเห็นแค่ช่วงไตและท่อปัสสาวะ

การเป็นนิ่ว ใช่ว่าจะจบเพียงแค่นั้น เพราะมันยังสามารถมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ติดเชื้อ ไตเป็นหนอง ต้องตัดไตออก หรืออาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้เช่นกัน

อาหารการกินนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดโรคนิ่ว ดังนั้น นี่คือ แนวทางที่ต้องรู้ในการบริโภคเพื่อห่างไกลจากโรคนิ่วไปชั่วนิจนิรันดร์

1.อาหารที่ควรเลี่ยง
1.1 ผักที่มีสีเขียวเข้ม เคี้ยวแล้วกรุบๆ กรอบๆ มีแคลเซียมสูง อาจทำให้เป็นนิ่วได้
1.2 ชาที่เข้มหรือชงหลายครั้งมาก จะมีออกซาเลดหลุดออกมา การทานชาที่ถูกต้อง ควรทานน้ำเดียว ชงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย
1.3 วิตามินซี (จำพวกยาเสริม) ถ้าทานเกินสามกรัมต่อวัน จะทำให้เกิดผลึกออกซาเลตและเป็นนิ่วได้ เพราะวิตามินซีที่ทานเข้าไป สามารถถ่ายเทออกทางท่อปัสสาวะและอาจจะมีการตกค้าง หากทานในปริมาณที่มาก
1.4 บางคนเชื่อว่า ดื่มน้ำอัดลม หรือโซดา ช่วยให้ไม่เป็นนิ่วได้ ตรงนี้ไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่มีบางแหล่งข้อมูลระบุว่าโซดาสามารถทำให้เกิดนิ่วได้

2.อาหารที่ควรรับ
2.1 ควรดื่มน้ำ มากกว่า 8 แก้วต่อวัน โดยดื่มกระจายตลอดวัน
2.2 ควรดื่มน้ำผลไม้อย่างน้อย 2 ชนิดต่อวัน โดยเฉพาะชนิดที่มีซิเทรต สารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุจำพวกโพแทสเซียม แมกนิเซียมสูง เช่น น้ำมะนาวเข้มข้น น้ำส้ม น้ำแอปเปิล
2.3 ทานผัก ธัญพืช และผลไม้ ซึ่งมีวิตามิน ใยอาหาร และแร่ธาตุที่ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว ลดการทำลายของเซลล์เยื่อบุหลอดไต ลดการอักเสบ เพิ่มซิเทรตในปัสสาวะ
2.4 ไขมันจากพืชและจากปลา มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยลดการอักเสบการเสื่อมของไต และลดปริมาณแคลเซียมที่เป็นสารก่อนิ่ว

****************************

แนวทางสร้างลูกอัจฉริยะ

ไอคิวกับอีคิว ถือเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์ / จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่าสิ่งนี้สามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็ก

ไอคิว ก็คือ ฉลาดในการเรียนการรู้ ส่วนอีคิว ฉลาดในการปรับตัว ในการใช้ชีวิต สองสิ่งนี้เริ่มสร้างเสริมได้ตั้งแต่แรกคลอด เพราะถ้าช้าเกินไป เด็กจะเคยชินกับพฤติกรรมบางอย่าง ขวบปีแรก ควรเน้นเรื่องกิจวัตรประจำวันต่างๆ ถ้าเป็นกิจกรรมเสริมสมองก็ต้องกระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือตั้งแต่อายุหกเดือน ภาพการ์ตูน หรือนิทานภาพที่มีสีสันเรียกความสนใจของเด็กได้ แม้เด็กอ่านไม่ออกแต่เมื่อเด็กมองไปเรื่อยๆ เขาก็จะพิมพ์เข้าไปไว้ในสมอง เวลาเขาเห็นหนังสือที่เขาคุ้นเคยหรือชอบ เขาก็จะเดินไปหยิบได้

ส่วนอีคิว มีด้านที่เกี่ยวกับตัวเอง คือ รู้จักอารมณ์ตัวเอง เข้าใจตัวเองพอสมควร รวมถึงการสร้างความมุ่งมั่นให้ตัวเอง ถ้าเกี่ยวกับผู้อื่นหรือสัมพันธภาพ ก็จะต้องรู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่น และรู้วิธีการแก้ปัญหากับคนอื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พ่อแม่ก็ควรทำให้เป็นต้นแบบให้เด็กเห็น

ล้อมกรอบ
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo
กำลังโหลดความคิดเห็น