xs
xsm
sm
md
lg

คร.เร่งทำแผน ฉ.3 รับมือ 3 กลุ่มโรคอุบัติใหม่เสี่ยงระบาดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คร.ห่วง 3 กลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่เสี่ยงระบาดในไทย ออกยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหา ฉบับที่ 3 ใช้ในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ 2556-2559

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงในประเทศไทย แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2012 โรคลีเจียนแนร์ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่ 2 โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง โรคลิชมาเนียสิส โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้เวสต์ไนล์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บวร์ก โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ที่เกิดจากโรคสมองฝ่อในวัว หรือโรควัวบ้า และโรคที่อาจเข้ามากับสัตว์ เช่น โรคฝีดาษลิง และโรคติดเชื้อจากการใช้อาวุธชีวภาพ เช่น โรคแอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ กาฬโรค และกลุ่มที่ 3 โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ เป็นต้น

“กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.2556-2559) ซึ่งเป็นฉบับที่ 3 เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพ ระบบและเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ มียุทธศาสตร์ 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษาและควบคุมโรค 2.การจัดการระบบการเลี้ยงและสุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค 3.พัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ 5.การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ในสัตว์ปีกและติดเชื้อมาสู่คนตั้งแต่ปี 2546 ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวล ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนก มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายพันธุ์เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ประเทศไทยจึงได้เตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหา การป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และดูแลกำกับติดตามการแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนกและโรคติดต่ออุบัติใหม่ในระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนใช้เป็นแผนแม่บทในการป้องกัน ควบคุม และเตรียมรับสถานการณ์การระบาด ที่ผ่านมา ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ไปแล้ว 2 ฉบับ คือ แผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก และแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ พ.ศ.2548-2550 และแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนก และการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551-2553
กำลังโหลดความคิดเห็น