xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ 75% เด็กประถมถูกละเมิดทางเพศโดยครูพละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนา กสม.ชี้ การถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นทุกวงการ ระบุ ผลวิจัยระดับประถมศึกษาพบ 75% เกิดจากฝีมือครูพละ ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยวัดยาก เหตุความกลัว “เสียหน้า-เสียสถาบัน” เข้าครอบงำ ซ้ำการตีตราผู้ถูกกระทำ การตั้งคำถามเหยื่อ ส่งผลให้ไม่เกิดการร้องเรียน ด้านกรรมการสิทธิเตรียมดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมความเสมอภาค พร้อมเดินหน้าให้แก้คำ “คุกคามทางเพศ” มาเป็น “ล่วงละเมิดทางเพศ” ใน กม.ทุกฉบับ เฉพาะอย่างยิ่งใน กม.อาญา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (15 ม.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา “การจัดการสถานการณ์ละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย” โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดการสัมมนาว่า ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากว่า 30 ปี เคยเห็นเรื่องการละเมิดทางเพศมาบ้าง มีทั้งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือบางครั้งก็คิดว่าเป็นประเพณี ทำให้บางคนละเลยเรื่องนี้จนกลายเป็นการละเมิดทางเพศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน อีกทั้งยังมีบางคนที่พูดถึงเรื่องนี้โดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องต้องห้าม เช่นการหยิบยกเอาเรื่องเพศมาพูดเป็นเรื่องตลกหรือที่เรียกว่า “เดอร์ตี้โจ๊ก” ดังนั้น การถูกละเมิดทางเพศจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีแนวโน้มเกิดขึ้นมาก สังเกตได้จากข่าวที่ถูกนำเสนอในปัจจุบันซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า สาเหตุที่เกิดเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เป็นเพราะในปัจจุบันมีสื่ออินเทอร์เน็ตที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ในวันนี้จะต้องมาดูในประเด็นการละเมิดทางเพศนั้น มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการละเมิดทางเพศ มักมีการหยิบยกเรื่องเสรีภาพทางเพศขึ้นมาควบคู่กัน จึงอยากให้ดูเส้นแบ่งระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ และเสรีภาพทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่มีการละเมิดทางเพศเกิดขึ้น จึงต้องหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหามาตรการทางสังคม กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อทำให้การละเมิดสิทธิทางเพศลดน้อยลง

จากนั้นได้มีการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “การจัดการสถานการณ์ละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย”โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิดล ระบุในช่วงการอภิปรายตอนหนึ่ง ว่า จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า สถานศึกษามีการละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลวิจัยจากโพลที่ระบุว่า นักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ถูกละเมิดทางเพศถึง 75 เปอร์เซ็นต์ โดยครูพลศึกษา ซึ่งอาจเกิดจากตัววิชาที่ครูต้องถูกเนื้อต้องตัวของนักเรียน ดังนั้น การละเมิดทางเพศจึงไม่ใช่แค่การข่มขืนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการสัมผัสตัวหรือลูบไล้ ก็ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว

แต่สถานการณ์ในส่วนของมหาวิทยาลัย พูดยากว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลงเพราะมีปัญหาอุปสรรค 2 ประการ คือ ความเงียบ เนื่องจากกลัวว่าตัวเองจะเสียหน้า ซึ่งตนมองว่าในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเกิดขึ้นมากว่าระดับประถมศึกษา เพราะกลัวสถาบันจะเสื่อมเสียจึงไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผย ปัญหาอีกประการคือการตีตราผู้ถูกกระทำ โดยการตั้งคำถามกับเหยื่อ ทำให้การร้องเรียนเป็นไปได้ยากขึ้น” ดร.กฤตยา กล่าวและว่า ส่วนตัวเห็นว่าในมหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีระบบจัดการผู้ละเมิดทางเพศที่ดีพอ ถึงแม้จะมีกรรมการตรวจสอบแต่ส่วนใหญ่ก็เข้าข้างผู้กระทำ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยจัดระบบการจัดการและการร้องทุกข์อย่างเป็นระบบและควรที่จะดำเนินการลงโทษผู้ที่ละเมิดอย่างจริงจัง

นางวิสา เบ็ญจะมโน กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์พึงได้ ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ (One Stop Crisis Center : OSCC) ระบุไว้ว่า เมื่อปี 2553 ได้มีผู้ถูกละเมิดทางเพศเมื่อปี 25,000 ราย และมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็น 27,000 รายในปีถัดมา แต่ก็ยังไม่มีใครยืนยัน อย่างไรก็ตาม เราทางคณะกรรมการสิทธิฯจะมีการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมความเสมอภาค โดยการบรรจุคำซึ่งจะเปลี่ยนจากคำว่า “คุกคามทางเพศ” มาเป็น “ละเมิดทางเพศ” เพราะคำว่าละเมิดนั้น เหมือนกับว่ายังไม่ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องนำคำว่า “ละเมิดทางเพศ” เข้าไปไว้ในกฎหมายทุกประเภท และอยากให้นำไปปรากฏในกฎหมายอาญาซึ่งขณะนี้ก็มีบ้างแล้วในบางพระราชบัญญัติ แล้ว แต่ตนอยากให้ไปปรากฏในกฎหมายอาญาด้วย และกรรมการสิทธิฯทั้ง 7 คนก็เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรรมการสิทธิฯก็ให้ความสำคัญในเรื่องการละเมิดทางเพศ เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯเองก็ได้มีการดำเนินการร่างประมวลจริยธรรมของสำนักงานฯขึ้นมาและตระหนักในเรื่องนี้ ว่า ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯไม่น่าจะมีเรื่องนี้ขึ้นมาภายในสำนักงานฯ ตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง ซึ่งจะนำมาเป็นข้อกำหนดในสำนักงานเพื่อให้เป็นรูปธรรม และเมื่อเสร็จแล้วทางสำนักงานสิทธิฯก็จะประกาศตัวว่าสำนักงานของเราน่าจะปลอดในเรื่องของการละเมิดทางเพศ ซึ่งตั้งใจว่าจะประกาศในวันสตรีแห่งชาติให้ได้ แต่ทั้งนี้ไม่รู้ว่าจะทันหรือไม่

นางวิสา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรณีการถูกละเมิดทางเพศก็ได้มีการร้องเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิฯมากเช่นกัน ซึ่งมีทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งทหาร ตำรวจ แพทย์ ทนายความ ครู นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายปัจจุบันที่เอาโทษได้มีเพียง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือกฎ ก.พ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศแล้ว ซึ่งเป็นของข้าราชการพลเรือน แต่ยังไม่มีอื่นๆ ซึ่งกรรมการสิทธิฯก็ต้องพลัดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงและบัญญัติคำเพิ่มเติมให้ครอบคลุมให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตีความกฎหมายว่าการกระทำใด แต่ไหนถือว่าเป็นการล่วงละเมิด
กำลังโหลดความคิดเห็น