xs
xsm
sm
md
lg

จวก “แรงเงา” แพร่ฉากปล่อยคลิปฉาว ผิด กม.แต่ไม่เตือนคนดู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เตือนปล่อยคลิปฉาวเลียนแบบละครดัง “แรงเงา” ผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์และอาญา เอ็นจีโอจวกผลิตละครชูตัวเอกทำความผิด ทั้งฉากนางเอกปล่อยคลิป พระเอกข่มขืนนางเอก แต่กลายเป็นสิ่งชอบธรรม แถมไม่มีอักษรเตือนว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ส่อกระตุ้นพฤติกรรมเลียนแบบ เผย ชง พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยเข้าสภา หวังสร้างเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ

วันนี้ (4 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมฮิป กทม. น.ส.ศรีดา ตันทอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวระหว่างการจัดเสวนา “สงครามคลิปในแรงเงา...เทรนด์อันตรายกับชีวิตจริงที่ต้องเท่าทัน” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ว่า ละครหลายเรื่องมักมีการนำเสนอให้ตัวละครเอกกระทำในสิ่งที่ผิด อย่างที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้ คือละครเรื่องแรงเงา ที่มีการนำเสนอเรื่องของการปล่อยคลิปเพื่อประจานแกล้งกัน มีการส่งต่อ และการเจาะระบบ ซึ่งในความเป็นจริงถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ในละครไม่ได้มีการนำเสนอว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิด เพราะไม่ใช่จุดขายของเรื่อง หากตัวละครมีการฟ้องร้องเรื่องการแพร่คลิป เรื่องก็จะจบไปอีกแบบหนึ่งทันที การนำเสนอแบบนี้จะทำให้สังคมรับรู้ว่า พฤติกรรมในละครเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะถูกกระทำโดยนางเอกของเรื่อง

อย่างบางฉากเมื่อผู้หญิงตบจะถูกผู้ชายจูบ หรือแม้แต่ฉากพระเอกข่มขืนนางเอก บทสรุปก็คือได้กัน คนดูก็เชียร์ แต่ในละครไม่มีการแจ้งความ ทำให้ละครกับชีวิตจริงนั้นต่างกัน กลายเป็นว่าละครให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ไม่ให้ความรู้ประชาชนด้วยว่าการข่มขืนหรือการแพร่คลิปเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ กล่าว

น.ส.ศรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติกรรมการเลียนแบบการปล่อยคลิปประจาน ส่งต่อ และเจาะระบบนั้น ขอยืนยันว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแน่นอน โดยผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งมาตรา 5 และ 7 การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ มาตรา 6 การเปิดเผยข้อมูลคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 การเผยแพร่เนื่อหาไม่เหมาะสม เช่น คลิปการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทั้งมาตรา 322 ความผิดฐานเปิดเผยความลับ และมาตรา 328 ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นต้น ซึ่งการปล่อยคลิปประจานและส่งต่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งต่อคนที่เท่าไรก็มีความผิดเท่ากัน ส่วนผู้ถ่ายคลิปจะมีความผิดเพิ่มฐานเป็นผู้ผลิต แม้แต่การโพสต์หรือแชร์คลิปประจานลงในเฟซบุ๊กของตนเองก็มีความผิด เพราะมีผู้พบเห็นมากกว่า 2 คน ถือว่าเป็นการโฆษณาประจานเช่นกัน 

ผู้ผลิตละครควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อาจมีการใส่เซนเซอร์ หรือขึ้นอักษรเตือนในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะสังคมมีกลุ่มคนหลายระดับ จึงต้องมีการนำเสนอเพื่อรองรับตรงนี้ด้วย ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลลูกในเรื่องการใช้สื่อและเทคโนโลยี เพราะปัญหาสังคมส่วนใหญ่เกิดจากการเลียนแบบสื่อ แม้ไม่ใช่กับทุกคน แต่ถ้าเนื้อหาสื่อไม่ดีก็สามารถกระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาทำไม่ดีได้ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาในเรื่องของจิตใจ เมื่อเจอสื่อกระตุ้นส่วนลึกก็จะเกิดการเลียนแบบขึ้นมา” น.ส.ศรีดา กล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กรณีผู้ถูกกระทำ หรือตกเป็นเหยื่อจากการใช้สื่อหรือคลิป แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีทางเพศ เช่น คู่รักที่หลอกให้มีเพศสัมพันธ์แล้วถ่ายคลิปวิดีโอเอาไว้ หรือการแอบถ่ายในที่ทำงานหรือห้องน้ำ เพื่อนำมาคุกคามทางเพศหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และ 2.กรณีครอบครัว เช่น การนำคลิประหว่างมีเพศสัมพันธ์มาบังคับหรือขู่ประจานอีกฝ่าย เพื่อไม่ให้หย่าร้างต่อกัน เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 กรณีต่างเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้ถูกกระทำบางรายหากหาทางออกไม่ได้ก็จะเกิดการทำร้ายตัวเองหรืออาจถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับละครเรื่องแรงเงา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้คลิปเพื่อนำมาทำลายผู้อื่น แต่ไม่มีการนำเสนอว่าเป็นสิ่งที่ผิด ยิ่งเป็นสิ่งที่พูดกันในสังคมออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้เป็นกระแส เมื่อเด็กและเยาวชนเสพละครเหล่านี้ก็มักจะดูแค่ปลีกย่อย ดูเพื่อความสะใจ ไม่ได้ดูว่ารากปัญหาในละครคืออะไรจนส่งผลกระทบทั้งหมดกับตัวละคร สังคมจึงต้องตั้งคำถามเพื่อแก้ปัญหาและนำไปสู่ทางที่สร้างสรรค์ในเรื่องของการใช้สื่อ ซึ่งมองว่าการปฏิรูปสื่อน่าจะเป็นทางออกที่สามารถช่วยได้

ด้าน น.ส.เข็มพร วรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า บางฉากในละครไม่มีการขึ้นคำเตือนว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ฉากข่มขืน ฉากการปล่อยคลิปประจาน การส่งต่อ เป็นต้น ที่สำคัญเมื่อละครจบแล้วแต่กระแสยังไม่จบแน่นอน เพราะสามารถนำไปผลิตซ้ำบนสังคมออนไลน์ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องมีการตื่นตัวต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจจะต้องมีการปฏิรูปสื่อ โดยการจัดตั้งกองทุนสื่อปลอดภัยขึ้น ซึ่งจะเน้นการให้สร้างความรู้ความเข้าใจในการตื่นตัวต่อการรู้เท่าทันสื่อ เป็นทุนสนับสนุนการลงทุนการทำสื่อสร้างสรรค์ รวมไปถึงช่วยเยียวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สื่อด้วย

น.ส.เข็มพร กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลก็มีการร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกำลังอยู่ระหว่างการเข้าสภาในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า แต่ภาคประชาสังคมยังไม่เห็นด้วยกับบางมาตราของรัฐบาล จึงได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ฉบับประชาชน) เข้าไปประกบ เพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาเปรียบเทียบเป็นรายข้อ ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวกำลังรอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เพื่อนำร่างเข้าสู่ที่ประชุมสภาต่อไป
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น