xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยเรียนเยอะรู้น้อย สพฐ.เล็งปรับหลักสูตร การเรียนและการบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.วางแผนปรับหลักสูตร เน้นยกเครื่องเนื้อหากลุ่มวิชาสังคมศึกษาให้ทันสมัยขึ้น พร้อมเผยสาเหตุที่เด็กไทยเรียนเยอะรู้น้อย เพราะเรียนแยกวิชาแบบเบ็ดเสร็จ เตรียมปรับการจัดการเรียนการสอนใหม่ให้ครูทุกวิชา โดยต้องประชุมวางแผนร่วมกันก่อนเปิดเทอม บูรณาการการเรียนการสอน ให้การบ้านเข้าด้วยกัน หวังลดเวลาเรียน ลดการบ้าน แก้ปัญหาเด็กเรียนเยอะ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (15 ม.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 (ปรับปรุง ปี 2551) ตามนโยบายปฏิรูปหลักสูตรของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ จุดเน้นในการทบทวนหลักสูตรครั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงเนื้อหาในวิชาต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้น และจากการสำรวจเนื้อหาของวิชาต่างๆ พบว่า เนื้อหาที่ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยจะเป็นสาระวิชาสังคมศึกษา ส่วนวิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นั้น เนื้อหาเป็นศาสตร์สากล ไม่จำเป็นต้องปรับ เพียงแต่ต้องปรับปรุงการเรียนการสอนให้เข้มข้น รวมทั้ง พัฒนาสื่อการเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม มีผลประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนออกมาว่า นักเรียนไทยเรียนมากแต่รู้น้อย

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า สพฐ.จึงไปศึกษาเรื่องนี้พบว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยต้องเรียนเยอะ เพราะการเรียนการสอนของเรา เรียนแบบแยกส่วนเด็ดขาดในแต่ละวิชา ครูแต่ละวิชา ก็จะพะวงอยู่แต่เนื้อหาในวิชาที่ตัวเองสอน จัดชั่วโมงการเรียนอย่างเคร่งครัด สั่งการบ้านให้นักเรียนทำกันทุกวิชา ทำให้นักเรียนต้องเรียนเยอะ ต้องทำการบ้านเยอะ รวมไปถึงการประเมินผลก็แยกส่วนชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตาม สพฐ.วางแผนแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะให้โรงเรียนจัดการการเรียนการสอนแบบบูรณาการครบวงจร ครูต้องวางแผนการสอนร่วมกันเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างสอน โดยมอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานวิชาการ (สวก.) ไปจัดทำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูณณการครบวงจรมาไว้ให้โรงเรียนใช้เป็นแนวทาง

จากนี้ก่อนเปิดภาคเรียน จะให้ครูทุกวิชามาวางแผนการสอนร่วมกัน ว่า จะบูรณาการเนื้อหาของแต่ละวิชามาสอนร่วมกันได้อย่างไร เพื่อให้ลดชั่วโมงเรียนลง การให้การบ้านก็ต้องเป็นแบบบูรณาการ งานเช่นเดียวตอบโจทย์ได้หลายวิชา ขณะเดียวกัน การประเมินผลก็ต้องเป็นแบบบูรณาการเช่นเดียวกัน ซึ่ง สพฐ.ได้เริ่มนำร่องการประเมินผลแบบนี้กับการสอบ NT ชั้น ป.3 ไปแล้ว ลดข้อสอบลงเหลือแค่ 3 วิชา คือ ภาษา คำนวณ และการใช้เหตุผล โดยออกแบบข้อสอบ 3 วิชาดังกล่าวให้ครอบคลุมเนื้อหาทุก ๆ วิชาที่เด็กเรียน” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น