“หมอประดิษฐ” สั่ง สสจ.ภาคใต้ รับมือพายุ “โซนามุ” 7-9 ม.ค.นี้ เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล และเตรียมพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน 13 ทีม สำรองยาช่วยเหลือน้ำท่วมจังหวัด 25,000 ชุด ให้สำรวจประชาชน 5 กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้อยู่ในที่ปลอดภัย แนะประชาชนป่วยฉุกเฉินแจ้งสายด่วน 1669 ตลอดเวลา
วันนี้ (7 ม.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความพร้อมในการรับมือพายุโซนร้อน “โซนามุ” (SONAMU) ที่จะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ ในวันที่ 7-9 ม.ค.นี้ ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใน 12 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา นราธิวาส และ สตูล เป็นต้น ให้เตรียมพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในสถานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุด และสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ให้เตรียมพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถ แจ้ง อสม.ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1669 ตลอดเวลา
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สธ. ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมระบบการสื่อสารหน่วยงานราชการและภาคีเครือข่าย เตรียมชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือทีมเมิร์ท (MERT : Medical Emergency Response Team) จำนวน 13 ทีม และให้ทุกจังหวัดสำรองยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเบื้องต้นจังหวัดละ 25,000 ชุด พร้อมแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ทันที และให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจประชาชน 5 กลุ่มเสี่ยงที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และอาจได้รับอันตรายเมื่อเกิดน้ำท่วม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนพักฟื้นอยู่ที่บ้าน และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 2.ผู้พิการ 3.ผู้สูงอายุ 4.เด็กเล็ก และ5.หญิงตั้งครรภ์ โดยขอให้ญาติเตรียมพร้อมที่จะสามารถเคลื่อนย้ายกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ทันที พร้อมยาประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ให้สถานพยาบาลทุกแห่ง สำรวจทะเบียนของผู้ป่วยเรื้อรังทั้งโรคทางกาย และทางจิตในพื้นที่ หากผู้ป่วยที่ครบวันกำหนดแพทย์นัดติดตามผลการรักษาไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ ให้จัดทีมร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ออกไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามอาการ ให้ได้รับยารักษาอย่างต่อเนื่อง